"เฮามาซ่อยสืบสร้าง วัฒนธรรมอีสาน"

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การแห่กัณฑ์หลอน

การแห่กัณฑ์หลอน



แห่กัณฑ์หลอน เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นพร้อมกับบุญผเหวด บางคนเข้าใจผิดเรียก แห่กันหลอน เป็การแห่ปัจจัยของเจ้าของกัณฑ์เทศน์ เพื่อมาถวายพระ
เวลาพระเทศน์ก็จะมีกัณฑ์หลอนมาถวายพิเศษอีกด้วย คือหมู่บ้านใกล้เคียงจะรวบรวมกัณฑ์หลอนคล้ายผ้าป่าสมัยนี้ แห่เป็นขบวนกันมา มีปี่ มีกลองก็บรรเลงกันมา ใครจะรำจะฟ้อนก็เชิญ แห่รอบศาลาการเปรียญ 3 รอบ แล้วก็นำไปถวายพระรูปที่กำลังเทศน์อยู่ขณะนั้นเลย เรียกว่ากัณฑ์หลอนเพราะมาไม่บอก มาโดนใครก็ถวายรูปนั้นไปเลย เรื่องกัณฑ์หลอนนับเป็นประเพณีผูกไมตรีระหว่างหมู่บ้านได้ยิ่งดี เพราะเรามีเทศน์เขาก็เอากัณฑ์หลอนมาร่วม เขามีเราก็เอาไปร่วมเป็นการสนองมิตรจิตมิตรใจซึ่งกันและกันได้ทั้งบุญได้ ทั้งมิตรภาพ ได้ทั้งความสนุกเฮฮา รำเซิ้ง แม้แต่ในหมู่บ้านนั้นเองก็มีกลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มบ้านเหนือ กลุ่มคนแก่ กลุ่มขี้เหล้า หรือกลุ่มอะไรก็ได้ ร่วมกันทำกัณฑ์หลอนขึ้น แห่ออกไปวัดเป็นการสนุกสนาน ใครใคร่ทำทำ มีเงินทองข้าวของจะบริจาคได้ตลอดวัน จึงเห็นบุญมหาชาติของอีสาน เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ประจำปี และถือกันว่าต้องทำทุกปีด้วย
อนึ่งก่อนวันงาน 5-6 วัน หนุ่มสาวจะลงศาลานำดอกไม้ ประดับตกแต่งศาลาบริเวณวัดเป็นโอกาสที่หนุ่มจะได้คุยกับสาว ช่วยสาวทำดอกไม้สนุกสนานที่สุด นี้แหละคืออีสานที่น่ารัก




เซียงข้อง หรือเสี่ยงข้อง



เซียงข้อง หรือเสี่ยงข้อง


ลักษณะของความเชื่อ
เซียงข้องหรือเสี่ยงข้องเป็นพิธีที่สร้างขึ้นจากความเชื่อในเรื่องผี ใช้ในการเสี่ยงทายเหตุการณ์ที่มนุษย์ไม่สามารถทราบได้เช่น เสี่ยงทายหาสิ่งของที่หายไป ทำนายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และขับไล่ผีที่มารบกวนความสุขของมนุษย์ และสิ่งชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้าน กล่าวได้ว่า เซียงข้องเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวอีสาน ถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อหมดทางแก้ไขเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ตามกฎเกณฑ์ของสังคม

ความสำคัญ
๑. ทำให้คนไม่กล้าทำความผิด เนื่องจากถ้าทำผิดลงไปก็กลัวคนอื่นจะรู้ภายหลัง เพราะพิธีการเสี่ยงเซียงข้องเชื่อว่า เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ และเซียงข้องสามารถค้นหาผู้กระทำผิดได้ ดังนั้นถ้าท้องถิ่นใดมีความเชื่อในพิธีนี้ ชาวบ้านจะไม่กล้าทำผิด ทำให้ท้องถิ่นนั้นอยู่กันด้วยความซื่อสัตย์และมีความสงบสุข
๒. เป็นที่พึ่งของคนได้รับทุกข์ เมื่อชาวบ้านเชื่อว่าเซียงข้องสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปได้ ชาวบ้านก็จะเป็นสุข โดยไม่ต้องกังวลใจว่าจะได้รับความเดือดร้อนจากสิ่งเลวร้าย หรือถ้ามีมาก็หวังพึ่งเซียงข้องให้เป็นผู้ปราบปราม ใครจะมาทำผิดคิดร้ายก็ไม่กล้า
๓. ทำให้ชาวบ้านตั้งอยู่ในความไม่ประมาท การใช้เซียงข้องเสี่ยงทายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นถ้าเป็นเหตุการณ์ร้าย ชาวบ้าจะได้เตรียมตัวหาทางป้องกันหรือแก้ไขต่อไป
๔. ทำให้เกิดความสามัคคี ความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรมในหมู่คณะ เช่น การไล่จับสัตว์ป่า ถ้าได้มาก็ต้องแบ่งให้เท่า ๆ กัน ไม่ให้โลภ ไม่ให้ลักขโมย ส่งผลให้ชาวบ้านมีความสงบสุข

พิธีกรรม
การจะทำพิธีเซียงข้อง ต้องมีหุ่นเซียงข้อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญจะขาดไม่ได้
อุปกรณ์การทำหุ่นเซียงข้อง
๑. ข้องที่ใช้สำหรับใส่ปลา จะเป็นข้องที่ใช้แล้วหรือข้องใหม่ก็ได้ ที่มีขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ถ้าจะให้ศักดิ์สิทธิ์และขลัง ควรเป็นข้องที่เคยใช้แล้ว
๒. ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕๐ นิ้ว ยาวประมาณ ๖๐-๗๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน และยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ ท่อน
๓. กะลามะพร้าวแห้ง ขนาดพอที่จะครอบปากข้องได้ จำนวน ๑ อัน
๔. เสื้อ กางเกง ขนาดพอที่จะสวมข้องได้พอดี สีแดงหรือสีดำ จำนวน ๑ ชุด
๕. ผ้าสีแดงขนาดกว้างประมาณ ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ ชิ้น (บางหมอก็ไม่ใช้)
การทำหุ่นเซียงข้อง
นำเอาไม้ไผ่ยาวขนาด ๖๐-๗๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน เสียบทะลุด้านล่างขึ้นไปยังปากข้องเพื่อทำเป็นขา แล้วเอาไม้ไผ่ที่ยาว ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ ท่อน เสียบด้านข้างตอนบน เพื่อทำเป็นแขน มัดไม้ไผ่ทั้ง ๓ ท่อนเข้าด้วยกัน และมัดให้แน่นไว้ภายในตัวข้อง เพื่อไม่ให้หลุดออกจากกัน ในขณะที่เซียงข้องเคลื่อนไหวแรง ๆ ในตอนทำพิธี เมื่อมัดแขนและขาเซียงข้องแน่นแล้ว ก็เอากะลามะพร้าวแห้งครอบที่ปากข้อง เจาะรูที่กะลา ๓ รู ใช้เชือกร้อยมัดกะลาให้แน่นติดปากข้อง จากนั้นตกแต่งหน้าตา โดยเขียน หน้าตา ปาก จมูก บนกะลามะพร้าวและใส่เสื้อผ้าให้เหมือนมนุษย์มากที่สุด
การทำพิธีปลุกเสกเซียงข้องจะต้องมีอุปกรณ์ที่จะใช้ในพิธีอย่างครบถ้วน จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตามที่หมอต้องการไม่ได้ เพราะถ้าอุปกรณ์ไม่ครบ เซียงข้องก็จะไม่ "ลง" (การที่วิญญาณเซียงข้องเข้าสิงในหุ่นเซียงข้องและทำให้เกิดอาการ) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "บ่สุน" (วิญญาณเซียงข้องไม่เข้าสิง)
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำพิธีปลุกเสก
๑. หุ่นเซียงข้องที่ตกแต่งให้เรียบร้อยพร้อมที่จะทำพิธีได้ทันที
๒. คาย หมายถึง ค่ายกครูในการทำพิธีและอาจรวมไปถึงเครื่องปลุกเสกด้วย ต้องเตรียมคายตามที่หมอกำหนด
๓. หมอปลุกเสก เป็นผู้ทำการปลุกเสกเซียงข้อง ซึ่งจะขาดไม่ได้
๔. ผู้จับหรือผู้เต้า หมายถึง คนที่หมอเตรียมไว้สำหรับจับขาหุ่นเซียงข้อง จำนวน ๒ คน ควรเป็นผู้ที่เคยจับเซียงข้องในครั้งก่อน ๆ มาแล้ว คนจับเซียงข้องเป็นคนสำคัญในพิธีจะขาดไม่ได้ การจับเซียงข้องไม่ใช่ว่าใครก็สามารถจับได้ คนจับบางทีเรียกว่า "คนเต้าเซียงข้อง" ต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและจิตแข็ง
๕. ผู้ถามเซียงข้อง จะเป็นใครก็ได้ แต่ควรเป็นคนที่มีไหวพริบเฉลียวฉลาด ในการพูดจาซักถามปัญหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดี หรือถ้าการทำพิธีเซียงข้องที่ต้องเชิญผีปู่ตามาเข้าสิงก็ต้องมี "เฒ่าจ้ำ" หมายถึงผู้ดูแลศาลเจ้าปู่ตามาเป็นผู้ซักถามเซียงข้องหรือร่วมพิธีด้วย
๖. เครื่องปลุกเสก จะมีอะไรบ้างนั้นก็แล้วแต่หมอปลุกเสก ประกอบด้วย
- ดอกไม้สีขาว ๑ คู่
- เทียน ๑ คู่
- หมาก ๑ คำ
- บุหรี่ ๑ มวน
- พริก ๑ เม็ด
- เกลือ ๑ หยิบมือ
- ปลาร้า ๑ ชิ้น
- มะขาม ๑ ฝัก
- สุรา ๑ ขวด
- เงิน ๑ สตางค์ เป็นค่าคาย (ค่ายกครู)
นอกจากนี้ยังมีเครื่องเซ่นไหว้ผีปู่ตาอีกได้แก่
- ดอกไม้และเทียนอย่างละ ๕ คู่ (ขัน ๕)
- เหล้า ๑ ขวด
- ไข่ไก่ ๑ ฟอง
- สวย (กรวยใบตอง) ๔ อัน
พิธีเริ่มด้วยเฒ่าจ้ำไปเชิญวิญญาณของผีปู่ตามารับรู้การทำพิธี เสร็จแล้วหมอปลุกเสกจะเริ่มปลุกเสกด้วยคาถาปลุกเสก โดยหมอปลุกเสกจะนั่งพับเพียบ มีผ้าขาวม้าพาดเฉียงบนบ่า หลังจากนั้นหมอปลุกเสกจะจุดเทียน ๑ คู่ และกล่าวอัญเชิญเทวดาให้มาเป็นสักขีพยาน แล้วกราบ ๓ ครั้ง จากนั้นก็นำผู้ร่วมพิธีกล่าวคำไหว้พระ เมื่อไหว้พระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้จับเซียงข้องก็จะมาจับขาเซียงข้อง จากนั้นหมอปลุกเสกจะรินสุราลงไปในขัน เพื่อทำเป็นน้ำมนต์ สำหรับรดเซียงข้อง เหมือนเป็นการให้เซียงข้องดื่ม จากนั้นหมอจะเริ่มท่องคาถา ปลุกเสกพร้อมเอาสุรารดที่หุ่นเซียงข้อง และเริ่มเสี่ยงทายเพื่อต้องการทราบว่าวิญญาณของเซียงข้องมาสิงในหุ่นหรือยัง โดยหมอจะเป็นผู้ถามว่า "ขณะนี้เซียงข้องมาหรือยัง ถ้ามาแล้วขอให้หุ่นกระดุกกระดิกแรง ๆ ถ้ายังไม่มาขอให้อยู่นิ่ง ๆ " เมื่อหมอกล่าวจบ ถ้าหุ่นเซียงข้องเฉยก็แสดงว่าวิญญาณเซียงข้องยังไม่
เข้าสิง หรืออาจเป็นเพราะผู้จับไม่ถูกใจเซียงข้องหรือผู้จับทั้งสองธาตุไม่ถูกกันอาจต้องเปลี่ยนตัวผู้จับใหม่ถ้าหุ่นเซียงข้องเคลื่อนไหวก็แสดงว่าวิญญาณเซียงข้องเข้าสิงแล้ว หากต้องการทราบหรือให้เซียงข้องทำอะไร ก็จะทราบคำตอบได้จากการเคลื่อนไหวของหุ่นเซียงข้อง หุ่นจะเคลื่อนไหวในลักษณะโยกตัวไปข้างหน้าและข้างหลัง ซึ่งจะเร็วและแรงมาก หากต้องการทราบที่อยู่ของสิ่งของที่เราไม่สามารถจะรู้หรือมองเห็นได้ เช่น ผีหรือสิ่งของที่ตกหายหรือแหล่งน้ำใต้ดิน และชี้ตัวผู้กระทำผิด หุ่นเซียงข้องก็จะพาผู้จับทั้งสองวิ่งหรือเดินไปตามหาได้ โดยผู้จับไม่ต้องทำอะไรเพียงแต่จับหุ่นไว้ หุ่นก็จะพาไปเอง

สาระ
เซียงข้องถือเป็นพิธีกรรมที่มีผลต่อจิตใจของชาวอีสาน คือ
๑. ทำให้ไม่กล้าทำผิด เพราะเซียงข้องสามารถค้นหาผู้กระทำผิดได้ ทำให้ท้องถิ่นนั้นอยู่กันด้วยความซื่อสัตย์ สงบสุข
๒. เป็นที่พึ่งของคนได้รับทุกข์ ด้วยชาวบ้านเชื่อว่าเซียงข้องสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้
๓. ทำให้ชาวบ้านตั้งอยู่ในความไม่ประมาท




การเลี้ยงผีปู่ตา

ความสำคัญ
ชาวบ้านในท้องถิ่นภาคอีสานเชื่อกันว่า ผีปู่ตาเป็นผีของบรรพชนหรือวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังมีความรักความผูกพันเป็นห่วงบุตรหลานอยู่ จึงยังอยู่คอยเฝ้าดูแล รักษาคุ้มครองป้องกันภัยร้ายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นแก่บุตรหลานในชุมชนของตนเอง หมู่บ้านแต่ละแห่งจึงสร้างศาลเจ้าหรือศาลปู่ตาไว้ที่ป่าหัวบ้าน หรือท้ายบ้านไว้สำหรับให้ผีปู่ตาอาศัย โดยเมื่อครบกำหนด ๑ ปี ชาวบ้านหรือชุมชนจะจัดพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตา ๑-๒ ครั้ง เป็นการตอบแทนผีปู่ตาที่คอยปกป้องคุ้มครองตลอดมา

พิธีกรรม
ชาวอีสานเชื่อกันว่าวิญญาณของผีปู่ตาจะมีอำนาจในการดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ให้แก่ชาวบ้านได้ตามที่ปรารถนาด้วยวิธีการบ๋า หรือบน ซึ่งเป็นการให้สินบนแก่ผีปู่ตา ถ้าหากว่าสามารถทำให้เขาเหล่านั้นประสบผลสำเร็จตามที่เขาต้องการแล้วชาวบ้านก็จะนำเหล้าไห ไก่ตัว มาแก้บนหรือข้าวปลาอาหารคาว หวาน ตามที่ชาวบ้านได้บนไว้ แต่ดอกไม้จะต้องเป็นดอกไม้สีขาว หรือดอกพุดใส่กรวยใบตอง ๑ คู่ ธูปเทียน ๒ เล่ม ผูกติดกันกับตาแหลวจำนวน ๔ อัน โดยมีเฒ่าจ้ำเป็นผู้ประกอบพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณผีปู่ตามารับเอาเครื่องเซ่นสังเวยต่าง ๆ ในขณะที่ประกอบพิธีก็จะต้องมีวงแคน ฆ้อง กลอง มาบรรเลงให้เกิดความสนุกสนานตามประเพณี ต่อจากนั้นเฒ่าจ้ำทำการเสี่ยงทาย ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองและความปลอดภัยของหมู่บ้าน
ชุมชน กับผีปู่ตา เสร็จพิธีชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นสังเวยไปฝังในหลุมแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน

สาระ
พิธีกรรมการเลี้ยงผีปู่ตา เป็นความเชื่อของชาวอีสานที่มีความรัก ความผูกพันอยู่กับภูตผีของบรรพบุรุษ ด้วยความเชื่อที่ว่าบรรพบุรุษยังมีความรัก ความห่วงใย แก่บุตรหลานอยู่เสมอ จึงพร้อมใจกันจัดหาที่พักและเลี้ยงดู เพื่อตอบสนองในพระคุณของบรรพบุรุษ

ความเชื่อเรื่องผีตาแฮด



ผีตาแฮก หรือผีตาแฮด


เป็นผีประจำท้องไร่ท้องนา ถือกันว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาพืชสวนไร่นา และทำให้ข้าวกล้า เจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ การทำนาจะได้ผลดี จึงมีการเซ่นไหว้ผีตาแฮกทุกปี ปีละ ๒ ครั้ง คือ ก่อนลงมือปักดำ และหลังการเก็บเกี่ยว ฉะนั้นในที่นาของแต่ละคนจะมีที่ที่ให้ผีตาแฮกอยู่ ซึ่งบางคนอาจปลูกกระท่อมหลังเล็ก ๆ บางคนจะปักเสาเป็นสัญลักษณ์ว่าที่ตรงนี้คือ ที่อยู่ของผีตาแฮก หรือบางแห่งจะทำรั้วถี่ ๆ ล้อมบริเวณใดบริเวณหนึ่งไว้ ซึ่งชาวบ้านจะทราบดีถึงที่อยู่ของผีตาแฮกนี้

พิธีกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับผีตาแฮก
การเลี้ยงผีตาแฮก เลี้ยง ๒ ครั้ง คือ
๑. เลี้ยงก่อนทำการปักดำ
๒. เลี้ยงหลังการเก็บเกี่ยว
สิ่งที่จะนำไปเลี้ยง หรือเซ่นไหว้ มีดังนี้
๑. เหล้า ๑ ขวด
๒. ไก่ต้มสุกพร้อมเครื่องใน ๑ ตัว
๓. ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู บุหรี่
๔. น้ำ ๑ ขวด แก้ว ๒ ใบ
๕. กระติ๊บข้าว ๑ กระติ๊บ

วิธีเลี้ยงผีตาแฮก
เมื่อเตรียมสิ่งที่จะเลี้ยงไว้เรียบร้อยแล้ว เอาใส่ตะกร้านำไปในที่ที่เป็นที่อยู่ของผีตาแฮก แล้วจัดแต่งสำรับที่นำมา จัดใส่ถาด เหล้าเปิดฝา กระติ๊บข้าวเหนียวเปิดออก น้ำและเหล้ารินใส่แก้วคนละใบ จุดเทียน ตั้งไว้พร้อมกับกล่าวเชิญชวนให้ผีตาแฮกมารับ หรือมากินของเซ่นไหว้ที่นำมาพร้อมกับบนบานให้ข้าวกล้าในนาของตนอุดมสมบูรณ์ ถ้าหากเลี้ยงหรือเซ่นไหว้หลังการทำนาก็จะเป็นการกล่าวคำขอบคุณผีตาแฮกที่ทำให้การทำนาประสบผลสำเร็จด้วยดี กะเวลาพอประมาณก็นำสำรับที่เตรียมไปเลี้ยงคนในครอบครัวที่ไปเลี้ยงผีตาแฮกด้วยก็เป็นอันเสร็จพิธี


พิธีบายศรีสู่ขวัญ



ความสำคัญของพิธีบายศรีสู่ขวัญ และประเภทของการสู่ขวัญ



ความสำคัญของพิธีบายศรีสู่ขวัญ
สาร สาระทัศนานันท์ ,(2527) ได้ให้ความสำคัญของพิธีบายศรีสู่ขวัญไว้ว่า พิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีที่สำคัญของชาวอีสาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น การดำเนินชีวิตของชาวอีสานแทบทุกอย่าง จึงมีการบายศรีสู่ขวัญควบคู่กันไปเสมอ เป็นการเรียกร้องพลังทางจิต ช่วยให้มีพลังใจที่เข้มแข็ง สามารถฟันฝ่าภัยพิบัติต่างๆได้ การสู่ขวัญช่วยทำให้เกิดมงคล ทำให้ดำรงอยู่ด้วยความสุขราบรื่น มีโชคลาภมากขึ้น และอาจดลปรารถนาให้ผู้ที่เคราะห์ร้ายพ้นจากสรรพเคราะห์ทั้งปวง ด้วยมูลเหตุแห่งการสู่ขวัญนี่เอง

การประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญของชาวอีสาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ ช่วยก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น ซึ่งชาวอีสานเห็นความสำคัญทางจิตใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นวิถีการดำเนินชีวิตแทบทุกอย่างจึงมักจะมีการสู่ขวัญควบคู่กันไปเสมอ การสู่ขวัญจะช่วยให้เกิดศิริมงคล ชีวิตอยู่ด้วยความราบรื่น จิตใจเข้มแข็ง โชคดียิ่งขึ้น ปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดี หายจากสรรพเคราะห์ทั้งปวง ทั้งพิธีบายศรีสู่ขวัญมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ว่าจะจัดพิธีสู่ขวัญในเรื่องใด เช่นการสู่ขวัญเด็ก การสู่ขวัญนาค การสู่ขวัญบ่าวสาว หรือจะเป็นการสื่อขวัญในเหตุที่ทำให้เกิดการเสียขวัญ จิตใจไม่ดี เพื่อเรียกให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว สิ่งไม่ดีให้ผ่านพ้นไป มีพลังใจที่ดี รวมทั้งการสู่ขวัญสัตว์ และสิ่งต่างๆก็อาจทำได้ แต่การปฏิบัตินอกจากจะมีเครื่องขวัญที่ใช้ในพิธีแล้ว พิธีการต่างๆก็จะแตกต่างกันไปเป็นปลีกย่อย แล้วแต่ลักษณะพิธี ซึ่งประเพณีบายศรีสู่ขวัญในภาคอีสาน เป็นประเพณีที่ประชาชนส่วนมาก ยังนิยมปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป เพราะถือว่าเป็นพิธีที่เป็นศิริมงคล เป็นการมอบความปรารถนาดีและดลบันดาลให้ ผู้รับการทำพิธีตลอดจนผู้เกี่ยวข้องมีความสุขความเจริญ และจิตใจสงบสุข และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรักใคร่กันเป็นอย่างดี นับเป็นวัฒนธรรมที่ดี ควรแก่การอนุรักษ์ให้อยู่สืบไป(....................................)
การบายศรีสู่ขวัญ เป็นวัฒนธรรมอันดีของชาวอีสานและชาวเหนือจัดขึ้นเพื่อเป็นการรับขวัญ และเรียกขวัญของผู้ที่จากบ้านไปไกลด้วยเวลาอันยาวนาน หรือผู้ที่เพิ่งหายป่วยไข้ ตลอดจนเป็นการแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในทางราชการ และเป็นการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน ซึ่งในภาคอีสานนั้น เมื่อมีการจัดงานอะไรก็ตาม ก็จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญควบคู่ไปด้วย การจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญก็เพื่อต้อนรับแขกนั้น มักจะทำกันอย่างสวยงาม ใหญ่โต(..............................................)






ประเภทของการสู่ขวัญ
การสู่ขวัญของชาวอีสานเป็นพิธีกรรมที่กระทำสืบต่อกันมานาน แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะและโอกาสที่ใช้ ดังนี้คือ
1 การสู่ขวัญคน
2 การสู่ขวัญสัตว์
3 การสู่ขวัญสิ่งของ

1 การสู่ขวัญคน
การสู่ขวัญคน เป็นเรื่องเกี่ยวกับขวัญหรือจิตใจ อันจะก่อให้เกิดขวัญหรือกำลังใจดีขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตของชาวร้อยเอ็ด มักจะมีการสู่ขวัญควบคู่กันเสมอ เพื่อเรียกร้องหรือระดม พลังทางจิตใจ นอกจากนี้เนื้อหาในบทสูตรขวัญบางบทได้มีการสอดแทรกคติธรรมและแนวทาง ในการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มต่าง ๆ ของสังคม การสู่ขวัญมีหลายประเภท ดังนี้

1.1 การสู่ขวัญพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ได้สมณศักดิ์เป็นยาครู หรือซา ชาวบ้าน จะทำการสู่ขวัญให้ หรือเวลาจะเอาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานที่แท่นประทับภายในวัด จะทำการสู่ขวัญพระสงฆ์ทั้งวัด เป็นการส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้สืบมรดกทางพุทธศาสนาต่อไป

1.2 การสู่ขวัญออกกรรม ผู้หญิงที่คลอดบุตรต้องอยู่ไฟ เมื่อออกไฟแล้วก็มีการสู่ขวัญให้เพราะในขณะที่อยู่ไฟนั้น ได้รับความทุกข์ทรมานนานัปการ จึงจำเป็นต้องเอาอกเอาใจและให้กำลังใจ การเอาอกเอาใจอย่างหนึ่ง คือ การสู่ขวัญ

1.3 การสู่ขวัญเด็กน้อย เด็กๆ มักตกใจง่าย ถ้ามีใครหลอกหรือเห็นอะไรที่น่ากลัว ก็จะตกใจมาก พ่อแม่เชื่อว่าเมื่อเด็กตกใจขวัญจะออกจากร่าง ส่งผลให้เด็กร้องไห้ไม่สบาย จึงจำเป็นต้องทำพิธีสู่ขวัญให้

1.4 การสู่ขวัญคนธรรมดา คนธรรมดานั้น เมื่อไปค้าขายได้ลาภ หรือได้เลื่อนยศตำแหน่ง ก็ทำการสู่ขวัญให้ บางทีฝันไม่ดี หรือเจ้านายมาเยี่ยมก็มีการสู่ขวัญเพื่อให้เกิดสิริมงคล

1.5 การสู่ขวัญหลวง เวลาพ่อแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่เกิดมีอาการเจ็บป่วยชาวบ้านจะรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ถ้ายังไม่หาย ลูกหลานจะทำพิธีสู่ขวัญให้เป็นเวลา 3 คืน เชื่อว่า โรคภัยไข้เจ็บหรืออาการป่วยจะหายได้ สิ่งของที่ใช้ในพิธีนี้ก็เหมือนสู่ขวัญธรรมดา แตกต่างตรงที่ต้องเพิ่มธูปเทียนให้ เท่ากับอายุของผู้ป่วย ให้สวดเวลากลางคืนประมาณ 3-4 ทุ่ม

1.6 การสู่ขวัญนาค เมื่อบุตรชายมีศรัทธา จะบวชเมื่อถึงวันบวชบิดา-มารดาจึงได้จัด พิธีสู่ขวัญให้บุตรชายเพื่อเป็นสิริมงคล

1.7 การสู่ขวัญน้อยก่อนแต่งงาน (กินดอง) มักกระทำที่บ้านเจ้าบ่าวก่อนจะมีพิธีแต่งงาน พ่อแม่เจ้าบ่าวและญาติของเจ้าบ่าวนิยมสู่ขวัญให้กับลูกของตนก่อน แล้วจึงนำพาขวัญไปรวมกัน ที่บ้านเจ้าสาว พาขวัญก่อนพิธีแต่งงาน เรียกพาขวัญน้อย

1.8 การสู่ขวัญบ่าวสาวเวลาแต่งงาน ก่อนที่หนุ่มสาวจะอยู่กินร่วมกันเป็นสามีภรรยา จะต้องจัดให้มีพิธีแต่งงาน หรือชาวอีสานเรียกว่า "กินดอง"เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับคู่บ่าวสาว จึงต้องจัดให้มีการสู่ขวัญขึ้น ส่วนใหญ่มักกระทำที่บ้านเจ้าสาว

1.9 การสู่ขวัญคนป่วย คนเจ็บไข้นาน ๆ หรือชาวบ้านเรียกว่า "ป่วยปี" เชื่อว่ามีสาเหตุ มาจากขวัญออกจากร่างกาย จึงเกิดอาการเจ็บป่วย เมื่อหายป่วยแล้วแต่ร่างกายยังไม่แข็งแรง ถือว่า ขวัญหนีเนื้อหนีคีง (ขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัว) จึงจำเป็นต้องสู่ขวัญให้เพื่อเรียกขวัญให้มาอยู่กับร่าง จะทำให้คนป่วยแข็งแรง หายจากการเจ็บป่วย

1.10 การสู่ขวัญพา ถ้าผู้ใดเจ็บไข้ได้ป่วย กินไม่ได้นอนไม่หลับ และได้ทำการสู่ขวัญ คนป่วยให้แล้ว แต่โรคภัยไข้เจ็บยังไม่หาย ก็จะทำการสู่ขวัญพาให้อีกครั้งหนึ่ง

2 การสู่ขวัญสัตว์
การสู่ขวัญสัตว์เป็นการระลึกถึงบุญคุณของสัตว์ ที่ช่วยมนุษย์ในการทำมาหากินรวมไปถึงการขอขมาที่ได้ด่าว่า เฆี่ยนตี ในระหว่างการทำงาน ที่สำคัญ ได้แก่

2.1 การสู่ขวัญควายและงัว (วัว) ควายและวัวเป็นสัตว์ที่มีคุณแก่คนมากเพราะเป็นแรงงานลากไถในการทำนา ทำไร่ ชาวบ้านถือว่าคนได้กินข้าวเพราะสัตว์เหล่านี้ ดังนั้นก่อนที่จะลงมือทำนา ครั้งแรกหรือเลิกทำนาแล้ว เจ้าของมักทำพิธีสู่ขวัญให้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุญคุณ และขอขมาที่ได้ ด่าว่า เฆี่ยนตีระหว่างทำงานร่วมกัน พาขวัญจัดให้มีน้ำอบ น้ำหอมและหญ้า

2.2 การสู่ขวัญม้อน (ตัวหม่อน) ม้อนเป็นสัตว์ตัวอ่อนที่ชักใยออกจากรังไหม ชาวบ้านสามารถนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ม้อนเป็นสัตว์ที่มีคุณแก่คน เพราะไหมสามารถทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม เมื่อชาวบ้านลงมือเลี้ยงม้อน หรือหลังจากการชักใยม้อนเสร็จเป็นรังไหมแล้วจะจัดให้มีการสู่ขวัญขึ้น เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้เลี้ยงม้อนทำให้ผู้เลี้ยงขายเส้นไหมได้เงินทอง และเชื่อว่าการสู่ขวัญให้ม้อนจะ ส่งผลให้ม้อนมีหนังหนาดังเปือกพ้าว (เหมือนเปลือกมะพร้าว) พาขวัญมีข้าวต้มและใบม้อน

3 การสู่ขวัญสิ่งของ
การสู่ขวัญสิ่งของเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อถือที่ว่า สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ มีประโยชน์ต่อชีวิตของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการสู่ขวัญให้กับสิ่งของเหล่านี้เพื่อเป็นการสำนึกในบุญคุณ ชาวบ้านเชื่อว่าการสู่ขวัญสิ่งของจะทำให้ผู้เป็นเจ้าของมีความสุข มีลาภ เป็นสิริมงคลแก่เจ้าของต่อไป ซึ่งการสู่ขวัญสิ่งของแยกได้ดังนี้

3.1 การสู่ขวัญเฮือน คือ การนำเอาพิธีและขั้นตอนการสร้างบ้านเรือนมาพูดที่ในประชุม เพื่อให้คนที่มาในพิธีรู้จักสร้างบ้านให้เป็นสิริมงคล ถ้าบ้านเรือนทำไม่ถูกแบบก็จะนำแต่ความไม่เป็นมงคลมาให้

3.2 การสู่ขวัญเกวียน เกวียนเป็นพาหนะใช้สำหรับลากเข็น การสู่ขวัญเกวียนก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลและมั่นคง และสอนให้เจ้าของรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์

3.3 การสู่ขวัญข้าว มักทำกันในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ชาวบ้านเชื่อว่า "กินบ่บก จกบ่ลง" (กินเท่าไหร่ ไม่รู้จักหมด) ชาวบ้านจะสู่ขวัญข้าวก่อนทำพิธีเปิดเล้า (ยุ้ง) ข้าวนำมากิน จะทำการสู่ขวัญก่อน เพื่อเป็นสิริมงคล จะทำให้สามารถผลิตข้าวในปีต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดภาวะอดอยาก

ประเพณีการสู่ขวัญที่ทำในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่เพียงการสู่ขวัญบางประเภท เท่านั้น เช่น การสู่ขวัญนาค สู่ขวัญบ่าวสาว สู่ขวัญคนป่วย สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญคนธรรมดา และสู่ขวัญควายและวัว ทั้งนี้อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ ของสังคมในปัจจุบัน สัตว์และสิ่งของบางอย่างได้หมดความสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวอีสานไปแล้ว จึงค่อยๆ เลิกไปในที่สุด


วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

ท้าวก่ำกาดำ ลำเรื่องยอดฮิตแดนอีสาน 2

ท้าวก่ำ กาดำมีความสามารถอีกอย่างหนึ่ง  คือ  สามารถเป่าแคนได้ไพเราะเพราะพริ้งมาก หากใครได้ยินเสียงแคนของท้าวก่ำกาดำก็จะหลงใหลจนลืมตัว  นอกจากนั้นท้าวก่ำกาดำยังมีฝีมือร้อยพวงมาลัยดอกไม้ได้สวยงามยิ่งนัก

           วันหนึ่งเขาร้อยพวงมาลัยดอกไม้สดบรรยายเป็นความรักแล้วให้ภรรยา คนเฝ้าสวนนำไปถวายนางลุนในวัง  นางลุนได้รับพวงมาลัยบรรยายเป็นความรักจึงเกิดความหลงใหลใคร่อยากเห็นหน้า ผู้ร้อยมาลัยมาถวาย
ตอนค่ำทุกวัน  ท้าวก่ำกาดำจะเป่าแคนให้เสียงแคนลอยตามลงไปจนถึงวัง
ครั้นพระราชาได้ฟังเสียงแคนที่ไพเราะจึงมีรับสั่งให้คนเฝ้าอุทยานนำท้าวก่ำ กาดำไปเป่าแคนถวายในวังจนเป็นที่โปรดปรานของพระราชา  หากวันใดพระองค์ไม่ได้ฟังเสียงแคนของท้าวก่ำกาดำพระราชาจะบรรทมไม่หลับ  ดังนั้นท้าวก่ำกาดำจึงต้องเข้าไปเป่าแคนถวายพระราชาในวังทุกค่ำคืน

             ครั้นเมื่อพระราชาบรรทมหลับด้วยมนต์เสียงแคนของท้าวก่ำกาดำ จึงเป็นโอกาสให้หนุ่มรูปกายดำราวกับอีกาถือโอกาสลักลอบไปได้เสียกับพระธิดา องค์เล็ก  คือ นางลุน  ซึ่งจากนั้นเทวดาได้ดลให้ท้าวก่ำกาดำได้ถอดครบให้เป็นรูปกายอันงดงามด้วย ความหล่อเหลาที่แท้จริงของเขา
ท้าวก่ำ กาดำได้ขอให้พ่อแม่ซึ่งเป็นคนเฝ้าอุทยานไปสู่ขอนางลุนเป็นคู่ชีวิตของตน  พระราชาไม่รังเกียจแต่เรียกค่าสินสอดเป็นเงินทองมากมาย  รวมทั้งให้ท้าวก่ำกาดำสร้างสะพานเงินสะพานทองจากในอุทยานมาจนถึงวังของนางลุ น  ถ้าท้าวก่ำกาดำทำได้ให้ดังนั้นจะยกธิดานางลุนให้
 ท้าวก่ำกาดำเป็นคนมีบุญญาธิการลงมาเกิด  เป็นโอรสจากสวรรค์  พระอินทร์จึงลงมาช่วยอีกครั้งหนึ่งโดยเนรมิตเงินทองสินสอดทองหมั้น  พร้อมสร้างสะพานทองจากอุทยานถึงวังของนางลุนได้สมกับความต้องการของพระราชา
 ท้าวก่ำกาดำจึงได้แต่งงานกับพระธิดานางลุนและอยู่อย่างมีความสุข  ท้าวก่ำกาดำได้รับพ่อแม่คนทำสวนและสืบหาพ่อแม่ที่แท้จริงของตน  และได้รับเข้ามาเลี้ยงดูในวัง เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณทุกคน  ท้าวก่ำกาดำจึงอยู่กับคนรักและพ่อแม่อย่างมีความสุขสืบมา

ที่มา :: http://www.esanclick.com/Festival-%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B3-%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99-2-29640.html

บุญบั้งไฟ

 ประเพณีบุญบั้งไฟ
 หรือประเพณียิงจรวดไทยขอฝนนี้ ความจริงไม่ใช่ประเพณีเฉพาะของชาวเมืองยโสธร แต่เป็นฮีด(จารีต)สำคัญ ฮีดหนึ่งของชาวอีสานทั่วทั้งภูมิภาค หากแต่ชาวยโสธรโยเฉพาะชาวคุ้มบ้านต่าง ๆ ในเขตอำเภอเมืองนั้นให้ความสำคัญ และร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานอย่างแข็งขัน จนทำให้ประเพณีบุญบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และในที่สุดด้วยความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนอีกหลาย ๆ ส่วน
บุญบั้งไฟยโสธร จึงเลื่อนฐานะขึ้นเป็นประเพณีสำคัญของประเทศ เป็นตัวแทนจากภาคอีสานที่เชิดหน้าชูตาในด้านวัฒนธรรมประเพณีของชาติ


รูปแบบประเพณี
ในวันนี้ ประเพณีบุญบั้งไฟ แบ่งงานออกเป็นงานใหญ่ ๆ สองงานด้วยกันคือวันแรก เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. เป็นขบวนแห่บั้งไฟสวยงามไปตามถนนสายหลักใจกลางเมือง
ในวันนี้ชาวบ้านจากคุ้มต่าง ๆ จะนำบั้งไฟขึ้นขบวนรถที่ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามเป็นลวดลายไทยงามวิจิตร นำแห่แหนด้วยขบวนรำประกอบดนตรีพื้นเมือง บนขบวนรถบางทีจะเป็นธิดาบั้งไฟโก้ เทพบุตรเทพธดาตัวน้อย ๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวจำลองจากนิยายพื้นบ้านปรัมปรา เช่นเรื่องท้าวผาแดง นางไอ่ เป็นต้น นอกจากนี้ที่จะขาดไม่ได้ก็คือขบวนรีวิวประเภทเนื้อหาสาระและตลกขบขันต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ชาวเมืองที่ต่างอายุกันได้มีโอกาสเข้าร่วมงานอย่างเสมอหน้าและ มาประกวดประชันกันอย่งสนุกสนาน
ส่วนวันที่สองเริ่มแต่เช้าที่สวนพญาแถนเป็นการประกวดการจุดบั้งไฟ มีการประกวดบั้งไฟขึ้นสูงแบะยั้งไฟแฟนซีต่าง ๆ ในขณะที่ชาวบ้านชาวคุ้มต่าง ๆ ก็จะยกขบวนออกร้องรำทำเพลงกันตลอดทั้งวันอย่างสนุกสนาน

จุดเด่นของพิธีกรรม
จุดเด่นของการชมประเพณีบุญบั้งไฟ อยู่ที่ช่วงเช้าของวันแรกคือวันแห่บั้งไฟสวยงาม สามารถชมได้ที่ปะรำพอธีถนนใจกลางเมือง และช่วงเช้าวันที่สอง คือการจุดบั้งไฟขึ้นสูงที่สวนสาธารณะพญาแถน

ตำนานเรื่องเล่า
ตำนานของประเพณีบุญบั้งไฟ ผูกพันกับนิทานพื้นบ้านสองเรื่องคือเรื่องท้าวผาแดงนางไอ่ และเรื่องสงครามระหว่างพญาคันคากกับพญาแถน ซึ่งเป็นเรื่องที่กล่าวถึงที่มาของการยิงบั้งไฟเลยทีเดียว
ตำนานเรื่องนี้เริ่มจากพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาคันคาก (คางคก) อาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ครั้งนั้น พญาแถน เทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ผู้ดลบันดาลให้ฝนตก เกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตก เกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตกเลยตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ชาวเมืองทนไม่ไหวจึงคิดทำสงครามกับพญาแถน แต่สู้พญาแถนกับกองทัพเทวดาไม่ได้ ถูกไล่ล่าหนีมาถึงต้นไม้ใหญ่ที่พญาคันคากอาศัยอยู่
ในที่สุดพญาคันคากตกลงใจเป็นจอมทัพของชาวโลกต่อสู้กับพญาแถน
พญาคันคากให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงสวรรค์ ให้พญามอดไม้ไปทำลายด้ามอาวุธของทหารและอาวุธพญาแถน และให้พญาผึ้ง ต่อ แตนไปต่อยทหารและพญาแถนฝ่ายเทวดาพ่ายแพ้ พญาแถนจึงให้คำมั่นยีร หากมนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นไปเตือนเมื่อไรจะรีบบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ทันทีและถ้ากบเขียดร้องก็ถือเป็นสัญญาณว่าฝนได้ตกลงถึงพื้นแล้ว
และเมื่อใดที่ชาวเมืองเล่นว่าวก็เป็นสัญญานแห่งการหมดสิ้นฤดูฝน พญาแถนก็บันดาลให้ฝนหยุดตก