"เฮามาซ่อยสืบสร้าง วัฒนธรรมอีสาน"

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การแห่กัณฑ์หลอน

การแห่กัณฑ์หลอน



แห่กัณฑ์หลอน เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นพร้อมกับบุญผเหวด บางคนเข้าใจผิดเรียก แห่กันหลอน เป็การแห่ปัจจัยของเจ้าของกัณฑ์เทศน์ เพื่อมาถวายพระ
เวลาพระเทศน์ก็จะมีกัณฑ์หลอนมาถวายพิเศษอีกด้วย คือหมู่บ้านใกล้เคียงจะรวบรวมกัณฑ์หลอนคล้ายผ้าป่าสมัยนี้ แห่เป็นขบวนกันมา มีปี่ มีกลองก็บรรเลงกันมา ใครจะรำจะฟ้อนก็เชิญ แห่รอบศาลาการเปรียญ 3 รอบ แล้วก็นำไปถวายพระรูปที่กำลังเทศน์อยู่ขณะนั้นเลย เรียกว่ากัณฑ์หลอนเพราะมาไม่บอก มาโดนใครก็ถวายรูปนั้นไปเลย เรื่องกัณฑ์หลอนนับเป็นประเพณีผูกไมตรีระหว่างหมู่บ้านได้ยิ่งดี เพราะเรามีเทศน์เขาก็เอากัณฑ์หลอนมาร่วม เขามีเราก็เอาไปร่วมเป็นการสนองมิตรจิตมิตรใจซึ่งกันและกันได้ทั้งบุญได้ ทั้งมิตรภาพ ได้ทั้งความสนุกเฮฮา รำเซิ้ง แม้แต่ในหมู่บ้านนั้นเองก็มีกลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มบ้านเหนือ กลุ่มคนแก่ กลุ่มขี้เหล้า หรือกลุ่มอะไรก็ได้ ร่วมกันทำกัณฑ์หลอนขึ้น แห่ออกไปวัดเป็นการสนุกสนาน ใครใคร่ทำทำ มีเงินทองข้าวของจะบริจาคได้ตลอดวัน จึงเห็นบุญมหาชาติของอีสาน เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ประจำปี และถือกันว่าต้องทำทุกปีด้วย
อนึ่งก่อนวันงาน 5-6 วัน หนุ่มสาวจะลงศาลานำดอกไม้ ประดับตกแต่งศาลาบริเวณวัดเป็นโอกาสที่หนุ่มจะได้คุยกับสาว ช่วยสาวทำดอกไม้สนุกสนานที่สุด นี้แหละคืออีสานที่น่ารัก




เซียงข้อง หรือเสี่ยงข้อง



เซียงข้อง หรือเสี่ยงข้อง


ลักษณะของความเชื่อ
เซียงข้องหรือเสี่ยงข้องเป็นพิธีที่สร้างขึ้นจากความเชื่อในเรื่องผี ใช้ในการเสี่ยงทายเหตุการณ์ที่มนุษย์ไม่สามารถทราบได้เช่น เสี่ยงทายหาสิ่งของที่หายไป ทำนายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และขับไล่ผีที่มารบกวนความสุขของมนุษย์ และสิ่งชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้าน กล่าวได้ว่า เซียงข้องเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวอีสาน ถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อหมดทางแก้ไขเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ตามกฎเกณฑ์ของสังคม

ความสำคัญ
๑. ทำให้คนไม่กล้าทำความผิด เนื่องจากถ้าทำผิดลงไปก็กลัวคนอื่นจะรู้ภายหลัง เพราะพิธีการเสี่ยงเซียงข้องเชื่อว่า เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ และเซียงข้องสามารถค้นหาผู้กระทำผิดได้ ดังนั้นถ้าท้องถิ่นใดมีความเชื่อในพิธีนี้ ชาวบ้านจะไม่กล้าทำผิด ทำให้ท้องถิ่นนั้นอยู่กันด้วยความซื่อสัตย์และมีความสงบสุข
๒. เป็นที่พึ่งของคนได้รับทุกข์ เมื่อชาวบ้านเชื่อว่าเซียงข้องสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปได้ ชาวบ้านก็จะเป็นสุข โดยไม่ต้องกังวลใจว่าจะได้รับความเดือดร้อนจากสิ่งเลวร้าย หรือถ้ามีมาก็หวังพึ่งเซียงข้องให้เป็นผู้ปราบปราม ใครจะมาทำผิดคิดร้ายก็ไม่กล้า
๓. ทำให้ชาวบ้านตั้งอยู่ในความไม่ประมาท การใช้เซียงข้องเสี่ยงทายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นถ้าเป็นเหตุการณ์ร้าย ชาวบ้าจะได้เตรียมตัวหาทางป้องกันหรือแก้ไขต่อไป
๔. ทำให้เกิดความสามัคคี ความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรมในหมู่คณะ เช่น การไล่จับสัตว์ป่า ถ้าได้มาก็ต้องแบ่งให้เท่า ๆ กัน ไม่ให้โลภ ไม่ให้ลักขโมย ส่งผลให้ชาวบ้านมีความสงบสุข

พิธีกรรม
การจะทำพิธีเซียงข้อง ต้องมีหุ่นเซียงข้อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญจะขาดไม่ได้
อุปกรณ์การทำหุ่นเซียงข้อง
๑. ข้องที่ใช้สำหรับใส่ปลา จะเป็นข้องที่ใช้แล้วหรือข้องใหม่ก็ได้ ที่มีขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ถ้าจะให้ศักดิ์สิทธิ์และขลัง ควรเป็นข้องที่เคยใช้แล้ว
๒. ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕๐ นิ้ว ยาวประมาณ ๖๐-๗๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน และยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ ท่อน
๓. กะลามะพร้าวแห้ง ขนาดพอที่จะครอบปากข้องได้ จำนวน ๑ อัน
๔. เสื้อ กางเกง ขนาดพอที่จะสวมข้องได้พอดี สีแดงหรือสีดำ จำนวน ๑ ชุด
๕. ผ้าสีแดงขนาดกว้างประมาณ ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ ชิ้น (บางหมอก็ไม่ใช้)
การทำหุ่นเซียงข้อง
นำเอาไม้ไผ่ยาวขนาด ๖๐-๗๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน เสียบทะลุด้านล่างขึ้นไปยังปากข้องเพื่อทำเป็นขา แล้วเอาไม้ไผ่ที่ยาว ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ ท่อน เสียบด้านข้างตอนบน เพื่อทำเป็นแขน มัดไม้ไผ่ทั้ง ๓ ท่อนเข้าด้วยกัน และมัดให้แน่นไว้ภายในตัวข้อง เพื่อไม่ให้หลุดออกจากกัน ในขณะที่เซียงข้องเคลื่อนไหวแรง ๆ ในตอนทำพิธี เมื่อมัดแขนและขาเซียงข้องแน่นแล้ว ก็เอากะลามะพร้าวแห้งครอบที่ปากข้อง เจาะรูที่กะลา ๓ รู ใช้เชือกร้อยมัดกะลาให้แน่นติดปากข้อง จากนั้นตกแต่งหน้าตา โดยเขียน หน้าตา ปาก จมูก บนกะลามะพร้าวและใส่เสื้อผ้าให้เหมือนมนุษย์มากที่สุด
การทำพิธีปลุกเสกเซียงข้องจะต้องมีอุปกรณ์ที่จะใช้ในพิธีอย่างครบถ้วน จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตามที่หมอต้องการไม่ได้ เพราะถ้าอุปกรณ์ไม่ครบ เซียงข้องก็จะไม่ "ลง" (การที่วิญญาณเซียงข้องเข้าสิงในหุ่นเซียงข้องและทำให้เกิดอาการ) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "บ่สุน" (วิญญาณเซียงข้องไม่เข้าสิง)
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำพิธีปลุกเสก
๑. หุ่นเซียงข้องที่ตกแต่งให้เรียบร้อยพร้อมที่จะทำพิธีได้ทันที
๒. คาย หมายถึง ค่ายกครูในการทำพิธีและอาจรวมไปถึงเครื่องปลุกเสกด้วย ต้องเตรียมคายตามที่หมอกำหนด
๓. หมอปลุกเสก เป็นผู้ทำการปลุกเสกเซียงข้อง ซึ่งจะขาดไม่ได้
๔. ผู้จับหรือผู้เต้า หมายถึง คนที่หมอเตรียมไว้สำหรับจับขาหุ่นเซียงข้อง จำนวน ๒ คน ควรเป็นผู้ที่เคยจับเซียงข้องในครั้งก่อน ๆ มาแล้ว คนจับเซียงข้องเป็นคนสำคัญในพิธีจะขาดไม่ได้ การจับเซียงข้องไม่ใช่ว่าใครก็สามารถจับได้ คนจับบางทีเรียกว่า "คนเต้าเซียงข้อง" ต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและจิตแข็ง
๕. ผู้ถามเซียงข้อง จะเป็นใครก็ได้ แต่ควรเป็นคนที่มีไหวพริบเฉลียวฉลาด ในการพูดจาซักถามปัญหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดี หรือถ้าการทำพิธีเซียงข้องที่ต้องเชิญผีปู่ตามาเข้าสิงก็ต้องมี "เฒ่าจ้ำ" หมายถึงผู้ดูแลศาลเจ้าปู่ตามาเป็นผู้ซักถามเซียงข้องหรือร่วมพิธีด้วย
๖. เครื่องปลุกเสก จะมีอะไรบ้างนั้นก็แล้วแต่หมอปลุกเสก ประกอบด้วย
- ดอกไม้สีขาว ๑ คู่
- เทียน ๑ คู่
- หมาก ๑ คำ
- บุหรี่ ๑ มวน
- พริก ๑ เม็ด
- เกลือ ๑ หยิบมือ
- ปลาร้า ๑ ชิ้น
- มะขาม ๑ ฝัก
- สุรา ๑ ขวด
- เงิน ๑ สตางค์ เป็นค่าคาย (ค่ายกครู)
นอกจากนี้ยังมีเครื่องเซ่นไหว้ผีปู่ตาอีกได้แก่
- ดอกไม้และเทียนอย่างละ ๕ คู่ (ขัน ๕)
- เหล้า ๑ ขวด
- ไข่ไก่ ๑ ฟอง
- สวย (กรวยใบตอง) ๔ อัน
พิธีเริ่มด้วยเฒ่าจ้ำไปเชิญวิญญาณของผีปู่ตามารับรู้การทำพิธี เสร็จแล้วหมอปลุกเสกจะเริ่มปลุกเสกด้วยคาถาปลุกเสก โดยหมอปลุกเสกจะนั่งพับเพียบ มีผ้าขาวม้าพาดเฉียงบนบ่า หลังจากนั้นหมอปลุกเสกจะจุดเทียน ๑ คู่ และกล่าวอัญเชิญเทวดาให้มาเป็นสักขีพยาน แล้วกราบ ๓ ครั้ง จากนั้นก็นำผู้ร่วมพิธีกล่าวคำไหว้พระ เมื่อไหว้พระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้จับเซียงข้องก็จะมาจับขาเซียงข้อง จากนั้นหมอปลุกเสกจะรินสุราลงไปในขัน เพื่อทำเป็นน้ำมนต์ สำหรับรดเซียงข้อง เหมือนเป็นการให้เซียงข้องดื่ม จากนั้นหมอจะเริ่มท่องคาถา ปลุกเสกพร้อมเอาสุรารดที่หุ่นเซียงข้อง และเริ่มเสี่ยงทายเพื่อต้องการทราบว่าวิญญาณของเซียงข้องมาสิงในหุ่นหรือยัง โดยหมอจะเป็นผู้ถามว่า "ขณะนี้เซียงข้องมาหรือยัง ถ้ามาแล้วขอให้หุ่นกระดุกกระดิกแรง ๆ ถ้ายังไม่มาขอให้อยู่นิ่ง ๆ " เมื่อหมอกล่าวจบ ถ้าหุ่นเซียงข้องเฉยก็แสดงว่าวิญญาณเซียงข้องยังไม่
เข้าสิง หรืออาจเป็นเพราะผู้จับไม่ถูกใจเซียงข้องหรือผู้จับทั้งสองธาตุไม่ถูกกันอาจต้องเปลี่ยนตัวผู้จับใหม่ถ้าหุ่นเซียงข้องเคลื่อนไหวก็แสดงว่าวิญญาณเซียงข้องเข้าสิงแล้ว หากต้องการทราบหรือให้เซียงข้องทำอะไร ก็จะทราบคำตอบได้จากการเคลื่อนไหวของหุ่นเซียงข้อง หุ่นจะเคลื่อนไหวในลักษณะโยกตัวไปข้างหน้าและข้างหลัง ซึ่งจะเร็วและแรงมาก หากต้องการทราบที่อยู่ของสิ่งของที่เราไม่สามารถจะรู้หรือมองเห็นได้ เช่น ผีหรือสิ่งของที่ตกหายหรือแหล่งน้ำใต้ดิน และชี้ตัวผู้กระทำผิด หุ่นเซียงข้องก็จะพาผู้จับทั้งสองวิ่งหรือเดินไปตามหาได้ โดยผู้จับไม่ต้องทำอะไรเพียงแต่จับหุ่นไว้ หุ่นก็จะพาไปเอง

สาระ
เซียงข้องถือเป็นพิธีกรรมที่มีผลต่อจิตใจของชาวอีสาน คือ
๑. ทำให้ไม่กล้าทำผิด เพราะเซียงข้องสามารถค้นหาผู้กระทำผิดได้ ทำให้ท้องถิ่นนั้นอยู่กันด้วยความซื่อสัตย์ สงบสุข
๒. เป็นที่พึ่งของคนได้รับทุกข์ ด้วยชาวบ้านเชื่อว่าเซียงข้องสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้
๓. ทำให้ชาวบ้านตั้งอยู่ในความไม่ประมาท




การเลี้ยงผีปู่ตา

ความสำคัญ
ชาวบ้านในท้องถิ่นภาคอีสานเชื่อกันว่า ผีปู่ตาเป็นผีของบรรพชนหรือวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังมีความรักความผูกพันเป็นห่วงบุตรหลานอยู่ จึงยังอยู่คอยเฝ้าดูแล รักษาคุ้มครองป้องกันภัยร้ายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นแก่บุตรหลานในชุมชนของตนเอง หมู่บ้านแต่ละแห่งจึงสร้างศาลเจ้าหรือศาลปู่ตาไว้ที่ป่าหัวบ้าน หรือท้ายบ้านไว้สำหรับให้ผีปู่ตาอาศัย โดยเมื่อครบกำหนด ๑ ปี ชาวบ้านหรือชุมชนจะจัดพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตา ๑-๒ ครั้ง เป็นการตอบแทนผีปู่ตาที่คอยปกป้องคุ้มครองตลอดมา

พิธีกรรม
ชาวอีสานเชื่อกันว่าวิญญาณของผีปู่ตาจะมีอำนาจในการดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ให้แก่ชาวบ้านได้ตามที่ปรารถนาด้วยวิธีการบ๋า หรือบน ซึ่งเป็นการให้สินบนแก่ผีปู่ตา ถ้าหากว่าสามารถทำให้เขาเหล่านั้นประสบผลสำเร็จตามที่เขาต้องการแล้วชาวบ้านก็จะนำเหล้าไห ไก่ตัว มาแก้บนหรือข้าวปลาอาหารคาว หวาน ตามที่ชาวบ้านได้บนไว้ แต่ดอกไม้จะต้องเป็นดอกไม้สีขาว หรือดอกพุดใส่กรวยใบตอง ๑ คู่ ธูปเทียน ๒ เล่ม ผูกติดกันกับตาแหลวจำนวน ๔ อัน โดยมีเฒ่าจ้ำเป็นผู้ประกอบพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณผีปู่ตามารับเอาเครื่องเซ่นสังเวยต่าง ๆ ในขณะที่ประกอบพิธีก็จะต้องมีวงแคน ฆ้อง กลอง มาบรรเลงให้เกิดความสนุกสนานตามประเพณี ต่อจากนั้นเฒ่าจ้ำทำการเสี่ยงทาย ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองและความปลอดภัยของหมู่บ้าน
ชุมชน กับผีปู่ตา เสร็จพิธีชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นสังเวยไปฝังในหลุมแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน

สาระ
พิธีกรรมการเลี้ยงผีปู่ตา เป็นความเชื่อของชาวอีสานที่มีความรัก ความผูกพันอยู่กับภูตผีของบรรพบุรุษ ด้วยความเชื่อที่ว่าบรรพบุรุษยังมีความรัก ความห่วงใย แก่บุตรหลานอยู่เสมอ จึงพร้อมใจกันจัดหาที่พักและเลี้ยงดู เพื่อตอบสนองในพระคุณของบรรพบุรุษ

ความเชื่อเรื่องผีตาแฮด



ผีตาแฮก หรือผีตาแฮด


เป็นผีประจำท้องไร่ท้องนา ถือกันว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาพืชสวนไร่นา และทำให้ข้าวกล้า เจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ การทำนาจะได้ผลดี จึงมีการเซ่นไหว้ผีตาแฮกทุกปี ปีละ ๒ ครั้ง คือ ก่อนลงมือปักดำ และหลังการเก็บเกี่ยว ฉะนั้นในที่นาของแต่ละคนจะมีที่ที่ให้ผีตาแฮกอยู่ ซึ่งบางคนอาจปลูกกระท่อมหลังเล็ก ๆ บางคนจะปักเสาเป็นสัญลักษณ์ว่าที่ตรงนี้คือ ที่อยู่ของผีตาแฮก หรือบางแห่งจะทำรั้วถี่ ๆ ล้อมบริเวณใดบริเวณหนึ่งไว้ ซึ่งชาวบ้านจะทราบดีถึงที่อยู่ของผีตาแฮกนี้

พิธีกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับผีตาแฮก
การเลี้ยงผีตาแฮก เลี้ยง ๒ ครั้ง คือ
๑. เลี้ยงก่อนทำการปักดำ
๒. เลี้ยงหลังการเก็บเกี่ยว
สิ่งที่จะนำไปเลี้ยง หรือเซ่นไหว้ มีดังนี้
๑. เหล้า ๑ ขวด
๒. ไก่ต้มสุกพร้อมเครื่องใน ๑ ตัว
๓. ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู บุหรี่
๔. น้ำ ๑ ขวด แก้ว ๒ ใบ
๕. กระติ๊บข้าว ๑ กระติ๊บ

วิธีเลี้ยงผีตาแฮก
เมื่อเตรียมสิ่งที่จะเลี้ยงไว้เรียบร้อยแล้ว เอาใส่ตะกร้านำไปในที่ที่เป็นที่อยู่ของผีตาแฮก แล้วจัดแต่งสำรับที่นำมา จัดใส่ถาด เหล้าเปิดฝา กระติ๊บข้าวเหนียวเปิดออก น้ำและเหล้ารินใส่แก้วคนละใบ จุดเทียน ตั้งไว้พร้อมกับกล่าวเชิญชวนให้ผีตาแฮกมารับ หรือมากินของเซ่นไหว้ที่นำมาพร้อมกับบนบานให้ข้าวกล้าในนาของตนอุดมสมบูรณ์ ถ้าหากเลี้ยงหรือเซ่นไหว้หลังการทำนาก็จะเป็นการกล่าวคำขอบคุณผีตาแฮกที่ทำให้การทำนาประสบผลสำเร็จด้วยดี กะเวลาพอประมาณก็นำสำรับที่เตรียมไปเลี้ยงคนในครอบครัวที่ไปเลี้ยงผีตาแฮกด้วยก็เป็นอันเสร็จพิธี


พิธีบายศรีสู่ขวัญ



ความสำคัญของพิธีบายศรีสู่ขวัญ และประเภทของการสู่ขวัญ



ความสำคัญของพิธีบายศรีสู่ขวัญ
สาร สาระทัศนานันท์ ,(2527) ได้ให้ความสำคัญของพิธีบายศรีสู่ขวัญไว้ว่า พิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีที่สำคัญของชาวอีสาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น การดำเนินชีวิตของชาวอีสานแทบทุกอย่าง จึงมีการบายศรีสู่ขวัญควบคู่กันไปเสมอ เป็นการเรียกร้องพลังทางจิต ช่วยให้มีพลังใจที่เข้มแข็ง สามารถฟันฝ่าภัยพิบัติต่างๆได้ การสู่ขวัญช่วยทำให้เกิดมงคล ทำให้ดำรงอยู่ด้วยความสุขราบรื่น มีโชคลาภมากขึ้น และอาจดลปรารถนาให้ผู้ที่เคราะห์ร้ายพ้นจากสรรพเคราะห์ทั้งปวง ด้วยมูลเหตุแห่งการสู่ขวัญนี่เอง

การประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญของชาวอีสาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ ช่วยก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น ซึ่งชาวอีสานเห็นความสำคัญทางจิตใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นวิถีการดำเนินชีวิตแทบทุกอย่างจึงมักจะมีการสู่ขวัญควบคู่กันไปเสมอ การสู่ขวัญจะช่วยให้เกิดศิริมงคล ชีวิตอยู่ด้วยความราบรื่น จิตใจเข้มแข็ง โชคดียิ่งขึ้น ปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดี หายจากสรรพเคราะห์ทั้งปวง ทั้งพิธีบายศรีสู่ขวัญมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ว่าจะจัดพิธีสู่ขวัญในเรื่องใด เช่นการสู่ขวัญเด็ก การสู่ขวัญนาค การสู่ขวัญบ่าวสาว หรือจะเป็นการสื่อขวัญในเหตุที่ทำให้เกิดการเสียขวัญ จิตใจไม่ดี เพื่อเรียกให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว สิ่งไม่ดีให้ผ่านพ้นไป มีพลังใจที่ดี รวมทั้งการสู่ขวัญสัตว์ และสิ่งต่างๆก็อาจทำได้ แต่การปฏิบัตินอกจากจะมีเครื่องขวัญที่ใช้ในพิธีแล้ว พิธีการต่างๆก็จะแตกต่างกันไปเป็นปลีกย่อย แล้วแต่ลักษณะพิธี ซึ่งประเพณีบายศรีสู่ขวัญในภาคอีสาน เป็นประเพณีที่ประชาชนส่วนมาก ยังนิยมปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป เพราะถือว่าเป็นพิธีที่เป็นศิริมงคล เป็นการมอบความปรารถนาดีและดลบันดาลให้ ผู้รับการทำพิธีตลอดจนผู้เกี่ยวข้องมีความสุขความเจริญ และจิตใจสงบสุข และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรักใคร่กันเป็นอย่างดี นับเป็นวัฒนธรรมที่ดี ควรแก่การอนุรักษ์ให้อยู่สืบไป(....................................)
การบายศรีสู่ขวัญ เป็นวัฒนธรรมอันดีของชาวอีสานและชาวเหนือจัดขึ้นเพื่อเป็นการรับขวัญ และเรียกขวัญของผู้ที่จากบ้านไปไกลด้วยเวลาอันยาวนาน หรือผู้ที่เพิ่งหายป่วยไข้ ตลอดจนเป็นการแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในทางราชการ และเป็นการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน ซึ่งในภาคอีสานนั้น เมื่อมีการจัดงานอะไรก็ตาม ก็จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญควบคู่ไปด้วย การจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญก็เพื่อต้อนรับแขกนั้น มักจะทำกันอย่างสวยงาม ใหญ่โต(..............................................)






ประเภทของการสู่ขวัญ
การสู่ขวัญของชาวอีสานเป็นพิธีกรรมที่กระทำสืบต่อกันมานาน แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะและโอกาสที่ใช้ ดังนี้คือ
1 การสู่ขวัญคน
2 การสู่ขวัญสัตว์
3 การสู่ขวัญสิ่งของ

1 การสู่ขวัญคน
การสู่ขวัญคน เป็นเรื่องเกี่ยวกับขวัญหรือจิตใจ อันจะก่อให้เกิดขวัญหรือกำลังใจดีขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตของชาวร้อยเอ็ด มักจะมีการสู่ขวัญควบคู่กันเสมอ เพื่อเรียกร้องหรือระดม พลังทางจิตใจ นอกจากนี้เนื้อหาในบทสูตรขวัญบางบทได้มีการสอดแทรกคติธรรมและแนวทาง ในการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มต่าง ๆ ของสังคม การสู่ขวัญมีหลายประเภท ดังนี้

1.1 การสู่ขวัญพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ได้สมณศักดิ์เป็นยาครู หรือซา ชาวบ้าน จะทำการสู่ขวัญให้ หรือเวลาจะเอาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานที่แท่นประทับภายในวัด จะทำการสู่ขวัญพระสงฆ์ทั้งวัด เป็นการส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้สืบมรดกทางพุทธศาสนาต่อไป

1.2 การสู่ขวัญออกกรรม ผู้หญิงที่คลอดบุตรต้องอยู่ไฟ เมื่อออกไฟแล้วก็มีการสู่ขวัญให้เพราะในขณะที่อยู่ไฟนั้น ได้รับความทุกข์ทรมานนานัปการ จึงจำเป็นต้องเอาอกเอาใจและให้กำลังใจ การเอาอกเอาใจอย่างหนึ่ง คือ การสู่ขวัญ

1.3 การสู่ขวัญเด็กน้อย เด็กๆ มักตกใจง่าย ถ้ามีใครหลอกหรือเห็นอะไรที่น่ากลัว ก็จะตกใจมาก พ่อแม่เชื่อว่าเมื่อเด็กตกใจขวัญจะออกจากร่าง ส่งผลให้เด็กร้องไห้ไม่สบาย จึงจำเป็นต้องทำพิธีสู่ขวัญให้

1.4 การสู่ขวัญคนธรรมดา คนธรรมดานั้น เมื่อไปค้าขายได้ลาภ หรือได้เลื่อนยศตำแหน่ง ก็ทำการสู่ขวัญให้ บางทีฝันไม่ดี หรือเจ้านายมาเยี่ยมก็มีการสู่ขวัญเพื่อให้เกิดสิริมงคล

1.5 การสู่ขวัญหลวง เวลาพ่อแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่เกิดมีอาการเจ็บป่วยชาวบ้านจะรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ถ้ายังไม่หาย ลูกหลานจะทำพิธีสู่ขวัญให้เป็นเวลา 3 คืน เชื่อว่า โรคภัยไข้เจ็บหรืออาการป่วยจะหายได้ สิ่งของที่ใช้ในพิธีนี้ก็เหมือนสู่ขวัญธรรมดา แตกต่างตรงที่ต้องเพิ่มธูปเทียนให้ เท่ากับอายุของผู้ป่วย ให้สวดเวลากลางคืนประมาณ 3-4 ทุ่ม

1.6 การสู่ขวัญนาค เมื่อบุตรชายมีศรัทธา จะบวชเมื่อถึงวันบวชบิดา-มารดาจึงได้จัด พิธีสู่ขวัญให้บุตรชายเพื่อเป็นสิริมงคล

1.7 การสู่ขวัญน้อยก่อนแต่งงาน (กินดอง) มักกระทำที่บ้านเจ้าบ่าวก่อนจะมีพิธีแต่งงาน พ่อแม่เจ้าบ่าวและญาติของเจ้าบ่าวนิยมสู่ขวัญให้กับลูกของตนก่อน แล้วจึงนำพาขวัญไปรวมกัน ที่บ้านเจ้าสาว พาขวัญก่อนพิธีแต่งงาน เรียกพาขวัญน้อย

1.8 การสู่ขวัญบ่าวสาวเวลาแต่งงาน ก่อนที่หนุ่มสาวจะอยู่กินร่วมกันเป็นสามีภรรยา จะต้องจัดให้มีพิธีแต่งงาน หรือชาวอีสานเรียกว่า "กินดอง"เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับคู่บ่าวสาว จึงต้องจัดให้มีการสู่ขวัญขึ้น ส่วนใหญ่มักกระทำที่บ้านเจ้าสาว

1.9 การสู่ขวัญคนป่วย คนเจ็บไข้นาน ๆ หรือชาวบ้านเรียกว่า "ป่วยปี" เชื่อว่ามีสาเหตุ มาจากขวัญออกจากร่างกาย จึงเกิดอาการเจ็บป่วย เมื่อหายป่วยแล้วแต่ร่างกายยังไม่แข็งแรง ถือว่า ขวัญหนีเนื้อหนีคีง (ขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัว) จึงจำเป็นต้องสู่ขวัญให้เพื่อเรียกขวัญให้มาอยู่กับร่าง จะทำให้คนป่วยแข็งแรง หายจากการเจ็บป่วย

1.10 การสู่ขวัญพา ถ้าผู้ใดเจ็บไข้ได้ป่วย กินไม่ได้นอนไม่หลับ และได้ทำการสู่ขวัญ คนป่วยให้แล้ว แต่โรคภัยไข้เจ็บยังไม่หาย ก็จะทำการสู่ขวัญพาให้อีกครั้งหนึ่ง

2 การสู่ขวัญสัตว์
การสู่ขวัญสัตว์เป็นการระลึกถึงบุญคุณของสัตว์ ที่ช่วยมนุษย์ในการทำมาหากินรวมไปถึงการขอขมาที่ได้ด่าว่า เฆี่ยนตี ในระหว่างการทำงาน ที่สำคัญ ได้แก่

2.1 การสู่ขวัญควายและงัว (วัว) ควายและวัวเป็นสัตว์ที่มีคุณแก่คนมากเพราะเป็นแรงงานลากไถในการทำนา ทำไร่ ชาวบ้านถือว่าคนได้กินข้าวเพราะสัตว์เหล่านี้ ดังนั้นก่อนที่จะลงมือทำนา ครั้งแรกหรือเลิกทำนาแล้ว เจ้าของมักทำพิธีสู่ขวัญให้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุญคุณ และขอขมาที่ได้ ด่าว่า เฆี่ยนตีระหว่างทำงานร่วมกัน พาขวัญจัดให้มีน้ำอบ น้ำหอมและหญ้า

2.2 การสู่ขวัญม้อน (ตัวหม่อน) ม้อนเป็นสัตว์ตัวอ่อนที่ชักใยออกจากรังไหม ชาวบ้านสามารถนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ม้อนเป็นสัตว์ที่มีคุณแก่คน เพราะไหมสามารถทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม เมื่อชาวบ้านลงมือเลี้ยงม้อน หรือหลังจากการชักใยม้อนเสร็จเป็นรังไหมแล้วจะจัดให้มีการสู่ขวัญขึ้น เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้เลี้ยงม้อนทำให้ผู้เลี้ยงขายเส้นไหมได้เงินทอง และเชื่อว่าการสู่ขวัญให้ม้อนจะ ส่งผลให้ม้อนมีหนังหนาดังเปือกพ้าว (เหมือนเปลือกมะพร้าว) พาขวัญมีข้าวต้มและใบม้อน

3 การสู่ขวัญสิ่งของ
การสู่ขวัญสิ่งของเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อถือที่ว่า สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ มีประโยชน์ต่อชีวิตของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการสู่ขวัญให้กับสิ่งของเหล่านี้เพื่อเป็นการสำนึกในบุญคุณ ชาวบ้านเชื่อว่าการสู่ขวัญสิ่งของจะทำให้ผู้เป็นเจ้าของมีความสุข มีลาภ เป็นสิริมงคลแก่เจ้าของต่อไป ซึ่งการสู่ขวัญสิ่งของแยกได้ดังนี้

3.1 การสู่ขวัญเฮือน คือ การนำเอาพิธีและขั้นตอนการสร้างบ้านเรือนมาพูดที่ในประชุม เพื่อให้คนที่มาในพิธีรู้จักสร้างบ้านให้เป็นสิริมงคล ถ้าบ้านเรือนทำไม่ถูกแบบก็จะนำแต่ความไม่เป็นมงคลมาให้

3.2 การสู่ขวัญเกวียน เกวียนเป็นพาหนะใช้สำหรับลากเข็น การสู่ขวัญเกวียนก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลและมั่นคง และสอนให้เจ้าของรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์

3.3 การสู่ขวัญข้าว มักทำกันในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ชาวบ้านเชื่อว่า "กินบ่บก จกบ่ลง" (กินเท่าไหร่ ไม่รู้จักหมด) ชาวบ้านจะสู่ขวัญข้าวก่อนทำพิธีเปิดเล้า (ยุ้ง) ข้าวนำมากิน จะทำการสู่ขวัญก่อน เพื่อเป็นสิริมงคล จะทำให้สามารถผลิตข้าวในปีต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดภาวะอดอยาก

ประเพณีการสู่ขวัญที่ทำในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่เพียงการสู่ขวัญบางประเภท เท่านั้น เช่น การสู่ขวัญนาค สู่ขวัญบ่าวสาว สู่ขวัญคนป่วย สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญคนธรรมดา และสู่ขวัญควายและวัว ทั้งนี้อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ ของสังคมในปัจจุบัน สัตว์และสิ่งของบางอย่างได้หมดความสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวอีสานไปแล้ว จึงค่อยๆ เลิกไปในที่สุด


วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

ท้าวก่ำกาดำ ลำเรื่องยอดฮิตแดนอีสาน 2

ท้าวก่ำ กาดำมีความสามารถอีกอย่างหนึ่ง  คือ  สามารถเป่าแคนได้ไพเราะเพราะพริ้งมาก หากใครได้ยินเสียงแคนของท้าวก่ำกาดำก็จะหลงใหลจนลืมตัว  นอกจากนั้นท้าวก่ำกาดำยังมีฝีมือร้อยพวงมาลัยดอกไม้ได้สวยงามยิ่งนัก

           วันหนึ่งเขาร้อยพวงมาลัยดอกไม้สดบรรยายเป็นความรักแล้วให้ภรรยา คนเฝ้าสวนนำไปถวายนางลุนในวัง  นางลุนได้รับพวงมาลัยบรรยายเป็นความรักจึงเกิดความหลงใหลใคร่อยากเห็นหน้า ผู้ร้อยมาลัยมาถวาย
ตอนค่ำทุกวัน  ท้าวก่ำกาดำจะเป่าแคนให้เสียงแคนลอยตามลงไปจนถึงวัง
ครั้นพระราชาได้ฟังเสียงแคนที่ไพเราะจึงมีรับสั่งให้คนเฝ้าอุทยานนำท้าวก่ำ กาดำไปเป่าแคนถวายในวังจนเป็นที่โปรดปรานของพระราชา  หากวันใดพระองค์ไม่ได้ฟังเสียงแคนของท้าวก่ำกาดำพระราชาจะบรรทมไม่หลับ  ดังนั้นท้าวก่ำกาดำจึงต้องเข้าไปเป่าแคนถวายพระราชาในวังทุกค่ำคืน

             ครั้นเมื่อพระราชาบรรทมหลับด้วยมนต์เสียงแคนของท้าวก่ำกาดำ จึงเป็นโอกาสให้หนุ่มรูปกายดำราวกับอีกาถือโอกาสลักลอบไปได้เสียกับพระธิดา องค์เล็ก  คือ นางลุน  ซึ่งจากนั้นเทวดาได้ดลให้ท้าวก่ำกาดำได้ถอดครบให้เป็นรูปกายอันงดงามด้วย ความหล่อเหลาที่แท้จริงของเขา
ท้าวก่ำ กาดำได้ขอให้พ่อแม่ซึ่งเป็นคนเฝ้าอุทยานไปสู่ขอนางลุนเป็นคู่ชีวิตของตน  พระราชาไม่รังเกียจแต่เรียกค่าสินสอดเป็นเงินทองมากมาย  รวมทั้งให้ท้าวก่ำกาดำสร้างสะพานเงินสะพานทองจากในอุทยานมาจนถึงวังของนางลุ น  ถ้าท้าวก่ำกาดำทำได้ให้ดังนั้นจะยกธิดานางลุนให้
 ท้าวก่ำกาดำเป็นคนมีบุญญาธิการลงมาเกิด  เป็นโอรสจากสวรรค์  พระอินทร์จึงลงมาช่วยอีกครั้งหนึ่งโดยเนรมิตเงินทองสินสอดทองหมั้น  พร้อมสร้างสะพานทองจากอุทยานถึงวังของนางลุนได้สมกับความต้องการของพระราชา
 ท้าวก่ำกาดำจึงได้แต่งงานกับพระธิดานางลุนและอยู่อย่างมีความสุข  ท้าวก่ำกาดำได้รับพ่อแม่คนทำสวนและสืบหาพ่อแม่ที่แท้จริงของตน  และได้รับเข้ามาเลี้ยงดูในวัง เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณทุกคน  ท้าวก่ำกาดำจึงอยู่กับคนรักและพ่อแม่อย่างมีความสุขสืบมา

ที่มา :: http://www.esanclick.com/Festival-%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B3-%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99-2-29640.html

บุญบั้งไฟ

 ประเพณีบุญบั้งไฟ
 หรือประเพณียิงจรวดไทยขอฝนนี้ ความจริงไม่ใช่ประเพณีเฉพาะของชาวเมืองยโสธร แต่เป็นฮีด(จารีต)สำคัญ ฮีดหนึ่งของชาวอีสานทั่วทั้งภูมิภาค หากแต่ชาวยโสธรโยเฉพาะชาวคุ้มบ้านต่าง ๆ ในเขตอำเภอเมืองนั้นให้ความสำคัญ และร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานอย่างแข็งขัน จนทำให้ประเพณีบุญบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และในที่สุดด้วยความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนอีกหลาย ๆ ส่วน
บุญบั้งไฟยโสธร จึงเลื่อนฐานะขึ้นเป็นประเพณีสำคัญของประเทศ เป็นตัวแทนจากภาคอีสานที่เชิดหน้าชูตาในด้านวัฒนธรรมประเพณีของชาติ


รูปแบบประเพณี
ในวันนี้ ประเพณีบุญบั้งไฟ แบ่งงานออกเป็นงานใหญ่ ๆ สองงานด้วยกันคือวันแรก เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. เป็นขบวนแห่บั้งไฟสวยงามไปตามถนนสายหลักใจกลางเมือง
ในวันนี้ชาวบ้านจากคุ้มต่าง ๆ จะนำบั้งไฟขึ้นขบวนรถที่ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามเป็นลวดลายไทยงามวิจิตร นำแห่แหนด้วยขบวนรำประกอบดนตรีพื้นเมือง บนขบวนรถบางทีจะเป็นธิดาบั้งไฟโก้ เทพบุตรเทพธดาตัวน้อย ๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวจำลองจากนิยายพื้นบ้านปรัมปรา เช่นเรื่องท้าวผาแดง นางไอ่ เป็นต้น นอกจากนี้ที่จะขาดไม่ได้ก็คือขบวนรีวิวประเภทเนื้อหาสาระและตลกขบขันต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ชาวเมืองที่ต่างอายุกันได้มีโอกาสเข้าร่วมงานอย่างเสมอหน้าและ มาประกวดประชันกันอย่งสนุกสนาน
ส่วนวันที่สองเริ่มแต่เช้าที่สวนพญาแถนเป็นการประกวดการจุดบั้งไฟ มีการประกวดบั้งไฟขึ้นสูงแบะยั้งไฟแฟนซีต่าง ๆ ในขณะที่ชาวบ้านชาวคุ้มต่าง ๆ ก็จะยกขบวนออกร้องรำทำเพลงกันตลอดทั้งวันอย่างสนุกสนาน

จุดเด่นของพิธีกรรม
จุดเด่นของการชมประเพณีบุญบั้งไฟ อยู่ที่ช่วงเช้าของวันแรกคือวันแห่บั้งไฟสวยงาม สามารถชมได้ที่ปะรำพอธีถนนใจกลางเมือง และช่วงเช้าวันที่สอง คือการจุดบั้งไฟขึ้นสูงที่สวนสาธารณะพญาแถน

ตำนานเรื่องเล่า
ตำนานของประเพณีบุญบั้งไฟ ผูกพันกับนิทานพื้นบ้านสองเรื่องคือเรื่องท้าวผาแดงนางไอ่ และเรื่องสงครามระหว่างพญาคันคากกับพญาแถน ซึ่งเป็นเรื่องที่กล่าวถึงที่มาของการยิงบั้งไฟเลยทีเดียว
ตำนานเรื่องนี้เริ่มจากพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาคันคาก (คางคก) อาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ครั้งนั้น พญาแถน เทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ผู้ดลบันดาลให้ฝนตก เกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตก เกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตกเลยตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ชาวเมืองทนไม่ไหวจึงคิดทำสงครามกับพญาแถน แต่สู้พญาแถนกับกองทัพเทวดาไม่ได้ ถูกไล่ล่าหนีมาถึงต้นไม้ใหญ่ที่พญาคันคากอาศัยอยู่
ในที่สุดพญาคันคากตกลงใจเป็นจอมทัพของชาวโลกต่อสู้กับพญาแถน
พญาคันคากให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงสวรรค์ ให้พญามอดไม้ไปทำลายด้ามอาวุธของทหารและอาวุธพญาแถน และให้พญาผึ้ง ต่อ แตนไปต่อยทหารและพญาแถนฝ่ายเทวดาพ่ายแพ้ พญาแถนจึงให้คำมั่นยีร หากมนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นไปเตือนเมื่อไรจะรีบบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ทันทีและถ้ากบเขียดร้องก็ถือเป็นสัญญาณว่าฝนได้ตกลงถึงพื้นแล้ว
และเมื่อใดที่ชาวเมืองเล่นว่าวก็เป็นสัญญานแห่งการหมดสิ้นฤดูฝน พญาแถนก็บันดาลให้ฝนหยุดตก

มูลมังอีสาน

สำบายดีพี่น้อง

ประชาชนธรรมดา จะจับกุมผู้กระทำผิดได้หรือไม่

โดยปกติแล้วการจับกุมผู้กระทำผิดนั้นเป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งคำว่า เจ้าพนักงานที่ว่า
นี้มีความหมายกว้างขึ้นอยู่กับกฎหมาย ในแต่ละเรื่องนั้นจะบัญญัติให้ใครเป็นเจ้าพนักงาน เช่นเจ้าหน้าที่
ศุลกากรเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายศุลกากร มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมความผิดเกี่ยวกับการขนสินค้าหนี
ภาษี เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายสรรพสามิต มีอำนาจหน้าที่จับกุมความผิดเกี่ยวกับ
สรรพสามิต ฯลฯ เป็นต้น ส่วนตำรวจ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ นั้น จัดอยู่ในประเภทพนักงานฝ่ายปกครองมี
อำนาจหน้าที่จับกุมความผิดได้ทุกประเภท แม้ว่าความผิดนั้นๆ จะมีเจ้าพนักงานโดยเฉพาะอยู่แล้วก็ตาม เช่น
ความผิดตามกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต ตำรวจ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ก็ยังมีอำนาจหน้าที่ในการ
จับกุมได้
สำหรับประชาชนหรือที่เรียกว่าราษฎรธรรมดานั้น โดยปกติไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจับกุมผู้ใด
ได้ เพราะประชาชนธรรมดาไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน
แต่อย่างไรก็ดีกฎหมายไม่ได้ห้ามเด็ดขาดตายตัวว่ามิให้ประชาชนธรรมดาจับกุมผู้กระทำผิดโดยสิ้น
เชิงบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นไว้ให้ประชาชนธรรมดามีอำนาจที่จะจับกุมผู้กระทำผิดได้เฉพาะในบางกรณีดังต่อ
ไปนี้เท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

บุญเบิกบ้านหรือบุญซำฮะ


บุญเบิกบ้าน ประเพณีอีสาน
 
เ   เดือนเจ็ด บุญซำฮะ นิยมทำกันในเดือนเจ็ด จัดทำได้ทั้งข้างขึ้นข้างแรม บุญซำฮะ คือ บุญซำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง ทำให้บ้านเมือง ไม่อยู่เย็นเป็นสุข เกิดโจรปล้นบ้าน ปล้นเมือง ฆ่าฟันรันแทง ผู้คนวัวควายล้มตายเพราะผีเข้า บ้านเมืองมีเหตุเภทภัยต่าง ๆ จึงทำบุญชำระล้างสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุเภทภัย ที่เป็นอัปมงคลให้หมดไป บางแห่งทำเมื่อฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาลเมื่อทำบุญนี้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารต่าง ๆ เมืองใดที่มีมเหศักดิ์หลักเมือง ก็ทำพิธีเซ่นสรวงหลักเมือง หมู่บ้านใดที่มีผีประจำหมู่บ้านซึ่งเรียกว่า "ผีปู่ตา" หรือ "ตาปู่" หรือเจ้าบ้าน" ก็ทำพิธีเลี้ยงในเดือนเจ็ดนี้และนำข้าวปลาอาหารพร้อมสิ่งอื่น ๆ ไปเลี้ยงผีประจำไร่นา ซึ่งเรียกว่า "ผีตาแฮก" ด้วย

 

                      การชำระล้างมลทิน ผงฝุ่น หรือสิ่งที่สกปรก รุงรังให้สะอาดปราศจากมลทินหรือความมัวหมอง เรียกว่า "ชำระ" หรือภาษาอีสานเรียกว่า "ซำฮะ" สิ่งควรเอาใจใส่ในการชำระให้สะอาด นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ความสกปรกภายนอก ได้แก่ ร่างกาย เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และความสกปรกภายใน ได้แก่ จิตที่มีความโลภ โกรธ หลง อันสิ่งที่เป็นอกุศลมูลหรือสิ่งเป็นมูลเหตุของความไม่ดีไม่งามที่จะทำให้จิตใจของคนเราเศร้าหมองได้

                      การชำระล้างในประเพณีนี้ได้แก่ การที่บ้านเมืองเกิดความเดือดร้อน มีข้าศึกมาทำลาย มีโจรปล้น เกิดรบราฆ่าฟันแย่งชิงกันเป็นใหญ่ เกิดโรคระบาด ผู้คน ช้าง ม้า วัว ควาย ล้มตายเพราะผีเข้าเจ้าสูญ (ผีโกรธ) คนอีสานถือกันว่าบ้านเมืองเกิดเดือดร้อน ชะตาบ้านเมืองขาด จำต้องมีการชำระล้างให้หายจากเสนียดจัญไรเหล่านั้น การทำบุญเกี่ยวกับการชำระล้างบ้านเมืองนี้เรียกว่า "บุญซำฮะ" และมีกำหนดทำกันในเดือน ๗ จึงได้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนเจ็ด"  ซึ่งบุญเดือนเจ็ดนี้นักปราชญ์โบราณอีสานได้กล่าวไว้เป็นผญาว่า...

  “เดือนเจ็ดเผาความฮ้ายอันตรายบ่มาผ่าน  

นิมนต์พระขึ้นบ้านเล็งเป้าเข้าใส่ธรรม

บุญสิมาส่อยยู้ ซูส่งราศี                                

บารมีผลทานสิไล่มารให้เลยพ้น

ตั้งแต่คนเฮาได้เคยยินมาตั้งแต่ก่อน

บุญซำฮะสละความเดือดฮ้อน เมืองบ้านสิฮ่มเย็น

                       ความหมายคือ  เดือนเจ็ดเผาความชั่วร้าย  อันตรายไม่มาผ่าน  นิมนต์พระขึ้นบ้าน เพื่อธรรมคำสอน  บุญจะคอยช่วยส่งเสริมสร้างราศี  บารมีผลทานจะไล่มารให้หนีพ้น ตั้งแต่คนเราเคยได้ยินที่ผ่านมาบุญชำระสละความเดือดร้อน  บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข

                       มูลเหตุที่ทำบุญซำฮะนี้ มีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือพระไตรปิฎกอรรถกถาว่า สมัยหนึ่งในเมืองไพสาลี ได้เกิดข้าวยากหมากแพงและฝนแล้ง ผู้คน ช้าง ม้า วัว ควาย ล้มตายลงเป็นอันมาก เกิดมีโรคอหิวาต์ระบาดทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยซากศพ  เจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองไพสาลี จึงได้ไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า    พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อีก ๕๐๐ รูป เสด็จจากกรุงราชคฤห์มายังเมืองไพสาลีโดยทางเรือ เพื่อมาขจัดปัดเป่าหรือว่ามาชำระเสนียดจัญไรที่เกิดขึ้น  การเดินทางในสมัยนั้นใช้เวลาเดินทางถีง ๗ วัน จึงเสด็จมาถึงเมืองไพสาลีได้ พอเมื่อพระองค์เสด็จมาถึงแล้วเกิดฝนตกห่าใหญ่ในเมืองเกิดน้ำท่วมมีระดับประมาณหัวเข่า น้ำที่ท่วมนั้นกลายเป็นผลดีแก่เมืองไพสาลี โดยได้พัดพาเอาซากศพของคนและสัตว์ลงสู่แม่น้ำและไหลออกสู่ทะเลในที่สุด ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทำน้ำมนต์ใส่บาตรให้พระอานนท์นำน้ำมนต์นั้นไปพรมจนทั่วพระนคร โรคภัยไข้เจ็บก็เกิดระงับดับหายไป  ด้วยอนุภาพของพระพุทธเจ้าและน้ำพุทธมนต์นั้น คนโบราณอีสานอาศัยความเชื่ออันนี้ จึงได้พากันทำเป็นประเพณี   เมื่อถึงเดือน ๗ ของทุกๆ ปี ก็จะพากันทำบุญชำระบ้านเมืองอยู่เป็นประจำ


 
    รวมความ ว่า

           บุญซำฮะ  นิยมทำกันในเดือนเจ็ด จัดทำได้ทั้งข้างขึ้นข้างแรม บุญซำฮะ คือ บุญซำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง ทำให้บ้านเมือง ไม่อยู่เย็นเป็นสุข เกิดโจรปล้นบ้าน ปล้นเมือง ฆ่าฟันรันแทง ผู้คนวัวควายล้มตายเพราะผีเข้า บ้านเมืองมีเหตุเภทภัยต่าง ๆ  จึงทำบุญชำระล้างสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุเภทภัย ที่เป็นอัปมงคลให้หมดไป บางแห่งทำเมื่อฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาลเมื่อทำบุญนี้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารต่าง ๆ เมืองใดที่มีมเหศักดิ์หลักเมือง ก็ทำพิธีเซ่นสรวงหลักเมือง หมู่บ้านใดที่มีผีประจำหมู่บ้านซึ่งเรียกว่า "ผีปู่ตา" หรือ "ตาปู่" หรือเจ้าบ้าน" ก็ทำพิธีเลี้ยงในเดือนเจ็ดนี้และนำข้าวปลาอาหารพร้อมสิ่งอื่น ๆ ไปเลี้ยงผีประจำไร่นา ซึ่งเรียกว่า "ผีตาแฮก" ด้วย





บุญข้าวจี่



 


 
ความสำคัญและความหมาย

       นิยมทำในราวกลางหรือปลายเดือนสาม คือ ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา ข้าวจี่คือข้าวเหนี่ยวนึ่งให้สุก แล้วนำมาปั้น เป็นก้อน โตประมาณเท่าไข่เป็ดขนาดใหญ่หรือผลมะตูมขนาดกลาง ทาเกลือเคล้าให้ทั่ว และนวดให้เหนียว แล้วเสียบไม้ย่างไฟ ถ้าไม่เสียบไม้จะย่างบนเหล็กหรือบนไม้ไผ่ ผ่าซีกสานขัดกันเป็นตะแกรงห่าง ๆ ก็ได้ โดยย่างบนกองไฟที่เป็นถ่านพลิกไปพลิกมามาจนเกรียมโดยรอบ จึงเอาออกมาทาด้วยไข่ ซึ่งตีให้ไข่ขาวไข่แดง เข้ากันตีแล้วทาจนทั่วปั้นข้าว จึงเอาย่างไฟให้สุกอีกครั้งหนึ่ง บางแห่งเมื่อเอาข้าวย่างไฟเสร็จแล้ว ถอดเอาไม้ออก เอาน้ำอ้อยปึกใส่เป็นไส้ข้างในด้วย น้ำอ้อยอาจเอายัดใส่ข้างในก่อนย่างไฟก็ได้ แต่บางแห่งไม่นิยมใส่น้ำอ้อย
     

 


       มูลเหตุที่ทำบุญข้าวจี่ในเดือนสาม คงจะเนื่องจากเป็นเวลาที่ชาวนาหมดภาระในการทำนา ชาวนาได้ข้าว ขึ้นยุ้งใหม่ จึงอยากร่วมกันทำบุญข้าวจี่ถวายพระสงฆ์ ส่วนมูลเหตุดั้งเดิมที่จะมีการทำบุญข้าวจี่ มีเรื่องเล่าว่า ในกาลครั้งหนึ่ง นางปุณณทาสีได้ทำขนมแป้งจี่ถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระ ครั้นถวายแล้วนางคิดว่า พระองค์คงไม่เสวยและอาจเอาทิ้งให้สุนัขหรือกากิน เพราะอาหารที่นางถวายไม่ประณีต น่ารับประทาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบภาวะนิตของนางปุณณทาสี จึงรับสั่งให้พระอานนท์ปูสาดอาสนะ แล้วทรง ประทับนั่งฉัน ณ ที่นางถวายนั้นเป็นผลให้นางเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อนางได้ฟังพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยอานิสงส์ที่ถวายขนมแป้งจี่ ชาวอีสานทราบอานิสงส์ ของการทานดังกล่าว จึงพากันทำข้าวจี่ถวายทานแต่พระสงฆ์สืบต่อมา



คำถวายข้าวจี่

อิมัสมิง ฐาเน อิมานิ มะยัง ภันเต พาหิระอัณฑานิ ปิณฑะปาตานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโข อิมานิ พาหิระอัณฑานิ ปิณฑะปาตานิ ปฏิคคัณหาตุ ฑีมะรัตตัง อัตถายะ หิตายะ สุขายะ



คำแปล

         ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายก้อนข้าวจี่ทั้งหลาเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ก้อนข้าวจี่ทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ
เมื่อพระฉันเสร็จ มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวจี่และอนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี ภายหลังเสร็จพิธีแล้วชาวย้านจะมีเลี้ยงกันเองด้วยข้าวจี่และอาหารหวานคาว (ซึ่งเหลือจากพระฉันเป็นทั้งงานบุญและได้อิ่มหนำสำราญโดยทั่วไปในสมัยปัจจุบันบุญข้าวยี่ยังมีการทำกันเป็นส่วนน้อยและเป็นที่น่าเสียดายที่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ส่วนมากเลิกการทำบุญข้าวจี่กันแล้ว นอกจากการทำบุญข้าวจี่แล้ว ในเดือนสามเพ็ญยังมีการทำบุญวันมาฆบูชาอีกด้



วิธีดำเนินการ

     เมื่อทางวัดและทางบ้านกำหนดวันทำบุญเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะไปเตรียมหาไม้สำหรับเสียบข้าวจี่ ซึ่งอาจเป็นไม้ไผ่ผ่าซีกหรือลำไม้เล็ก ๆ ชนิดอื่นที่ไม่เบื่อเมา โดยปลอกเปลือกไม้ออก เหลาตกแต่งให้เกลี้ยงเกลาดี ๆ และเตรียมฟืนไว้ให้พร้อม เมื่อถึงวันทำบุญ เอาไม้เสียบและฟืนที่เตรียมไว้สำหรับทำบุญข้าวจี่ไปรวมกันที่วัด จึงเอาฟืนมาก่อเป็นกองไฟ กองไฟนี้อาจทำลายกองตามความจำเป็น เมื่อก่อไฟจนเป็นถ่านดีแล้วชาวบ้านแต่ละคน เอาข้าวเหนียวทำเป็นปั้น โรยเกลือและเคล้านวดให้เข้ากัน จนข้าวมีลักษณะเหนียวเหนอะหนะดังกล่าวแล้วข้างต้น กะจำนวนให้ครบพระภิกษุสามเณรในวัด เสียบไม้ปิ้งไฟหรือย่างบนกองไฟจวนสุกทาไข่ให้ทั่วแล้วปิ้งต่อไปจนไข่เหลือง บางแห่งเมื่อปิ้งเสร็จ เอาน้ำอ้อยปึกยัดไส้ด้วย (น้ำอ้อยอาจเอาใส่ยัดไส้ก่อนปิ้งก็ได้) หรือจะไม่ใส่น้ำอ้อยก็ได้ จึงจัดอาหารหวานคาวและข้าวจี่มารวมกันที่ศาลาวัด นิมนต์พระภิกษุและสามเณรในวัน ทั้งหมดมารับถวายทาน ข้าวจี่หากไม่มารวมกันทำที่วัด ชาวบ้านอาจต่างคนต่างทำมาจากบ้านของตน โดยเสร็จแล้วต่างนำข้าวจี่มาที่วัดก็ได้ พิธีถวายมีการกล่าวคำบูชาดอกไม้ กราบไหว้พระรัตนตรัย รับศีล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ตักบาตรถวายข้าวจี่ แล้วยกไปถวายพระภิกษุสามเณรพร้อมอาหารหวานคาว ก่อนยกไปถวายมีการกล่าวคำถวายข้าวจี่ด้วย ซึ่งคำกล่าวถวายข้าวจี่มีดังต่อไปนี้







บุญผะเหวด



ประเพณีบุญผะเหวด

 
ความสำคัญ
บุญผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไป ของชาวอีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือน ๓ พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาติและในงานนี้ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ไปเกิดในภพหน้า


พิธีกรรม
ชาวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละ ๑ ครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ จังหวัดร้อยเอ็ด จะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย การจัดงานบุญผะเหวด หรือ งานเทศน์มหาชาตินิยมที่อัญเชิญพระอุปคุต มาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชค ลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึงมีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจาก สะดือทะเล

สาระ
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป
นอกจากนี้ยังเป็นการสังสรรค์ ระหว่างญาติพี่น้องจากแดนไกลสมกับคำกล่าวที่ว่า "กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ"









บุญบั้งไฟ



ประวัติ/ความเป็นมา
ประเพณีบุญบั้งไฟกำเนิดจากไหนนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่ก็ยังปรากฏ ประเพณีนี้ในภาคเหนือ (เรียกว่า ประเพณีจิบอกไฟ) ส่วนหลักฐานเอกสารในภาคอีสาน ปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง ผาแดง-นางไอ่ ซึ่งกล่าวถึงตำนานบุญบั้งไฟบางส่วนความเป็นมาและตำนานเกี่ยวกับบุญบั้งไฟมีหลายประการด้วยผู้รู้หลายท่านได้กล่าวไว้ เช่น

สิริวัฒน์ คำวันสาได้ให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับต้นเหตุความเป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟในแง่ต่างๆไว้ว่าด้านศาสนาพราหมณ์มีการบูชาเทพเจ้าด้วยไฟเป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าบนสวรรค์ การจุดบั้งไฟเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งและเป็นการบูชาเพื่อให้พระองค์บันดาลในสิ่งที่ตนเองต้องการ
ด้านศาสนาพุทธเป็นการฉลองและบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชามีการนำเอาดอกไม้ไฟแบบต่างๆ บั้งไฟ น้ำมันไฟธูปเทียนและดินประสิว มีการรักษาศีล ให้ทาน การบวชนาค การฮดสรง การนิมนต์พระเทศน์ให้เกิดอานิสงส์

ด้านความเชื่อของชาวบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์โลกเทวดา และโลกบาดาล มนุษย์ อยู่ภายใต้อิทธิพลของเทวดา การรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างแห่งการแสดงความนับถือเทวดา เทวดา คือ "แถน" "พญาแถน"เมื่อถือว่ามีพญาแถนก็ถือว่ามีฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของพญาแถน หากทำให้พญาแถนโปรดปรานหรือพอใจแถนก็จะบันดาลความสุข จึงมีพิธีบูชาแถนการใช้บั้งไฟเชื่อว่าเป็นการบูชาพญาแถนซึ่งแสดงความเคารพและแสดงความจงรักภักดีต่อแถนชาวอีสานส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าการจุดบูชาบั้งไฟเป็นการ ขอฝนพญาแถนและมีนิทานปรัมปราลักษณะนี้อยู่ทั่วไป แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอนในวรรณกรรมอีสานยังมีความเชื่ออย่างหนึ่ง คือ เรื่องพญาคันคากพญาคันคากได้รบกับพญาแถนจนชนะแล้ว ให้พญาแถนบันดาลฝนตกลงมายังโลกมนุษย์
พระมหาปรีชา ปริญญาโน เล่าถึงมูลเหตุการทำบุญบั้งไฟไว้ว่า บนสวรรค์ชั้นฟ้ามีเทพบุตรนามว่า วัสสการเทพบุตร เทพบุตรองค์นี้เป็นผู้บันดาลให้ฝนตกลงมายังโลกมนุษย์สิ่งหนึ่งที่เทพเจ้าองค์นี้ชอบ ก็คือ การบูชาไฟ ใครบูชาไฟถือว่าบูชาท่านแล้วท่านจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลอาศัยเหตุนี้คนจึงพากันทำการบูชาไฟด้วยการทำบุญบั้งไฟและถือเป็นประเพณีจนทุกวันนี้

จารุบุตร เรืองสุวรรณ กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการทำบั้งไฟว่าเป็นการทดสอบความพร้อมของประชาชนว่ามีความสามัคคีหรือไม่ และเตรียมอาวุธไว้ป้องกันสังคมของตนเองเพราะสิ่งที่ใช้ทำบั้งไฟนั้นคือดินปืนนอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกันเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแสดงการละเล่นจนสุดเหวี่ยง ให้มีความสนุกสนานก่อนที่จะเริ่มทำงานหนักประจำปี คือ การทำนา

บุญเลิศ สดสุชาติ กล่าวถึงการทำบั้งไฟว่า มีตำนานเล่าถึงเมืองธีตานครของท้าวพญาขอมเกิดแล้งหนัก ท่านจึงป่าวประกาศให้เมืองต่างๆทำบั้งไฟมาแข่งกันของใครขึ้นสูงสุดจะเป็นผู้ชนะได้อภิเษก สมรสกับ "นางไอ่"ผู้เป็นพระราชธิดา ผลการแข่งขันจุดบั้งไฟปรากฏว่าท้าวผาแดงเป็นผู้ชนะเลิศเมื่อพญาขอม สิ้นพระชนม์ ท้าวผาแดงได้ครองเมืองสืบต่อมาด้วยความสงบสุขร่มรื่นกล่าวถึงท้าวภาคีบุตรพญานาค เคยเป็นคู่ครองของนางไอ่ในชาติปางก่อนยังมีอาวรณ์ถึงนางจึงได้แปลงกายเป็นกระรอกเผือกมาให้นางไอ่เห็นเมื่องนางไอ่เห็นก็อยากได้กระรอกนั้นเป็นกำลัง นางได้ส่งบริวารให้ช่วยกันจับบังเอิญบริวารยิงธนูถูกกระรอก เผือกถึงแก่ความตายก่อนตายท้าวภาคีได้อธิษฐานให้ร่างกายของตนใหญ่โต แม้คนจะเชือดเพื่อไปกินมากมายอย่างไรก็อย่าได้หมด ใครที่กินเนื้อตนจงถึงแก่ชีวิตพร้อมกันทั้งแผ่นดินถล่มเมืองธีตานครถึงแก่จม หายไป กลายเป็นหนองหาน ท้าวผาแดงและนางไอ่พยายามขี่ม้าหนีแต่ไม่รอดได้เสียชีวิตในคราวนี้ด้วยจากผลแห่งกรรมดีที่สร้างไว้ท้าวผาแดงได้ไปจุติเป็นเทพเจ้า ชื่อว่าพญาแถนดังนั้นการทำบุญบั้งไฟก็ เพื่อเป็นการบูชาพญาแถน

จารุวรรณ ธรรมวัตรกล่าวถึงมูลเหตุการทำบั้งไฟดังนี้ พญาแถนเป็นเทพยดาผู้มีหน้าที่ควบคุมฝนฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาล หากทำการเซ่นบวงสรวงให้พญาแถนพอใจท่านก็จะอนุเคราะห์ให้การ ทำนาปีนั้นได้ผลสมบูรณ์ตลอดจนบันดาลให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหมู่บ้านใดทำบุญบั้งไฟติดต่อกันมาถึงสามปีข้าวปลาอาหารในหมู่บ้านนั้นจะบริบูรณ์มิได้ขาด

พระยาอนุมานราชธนเขียนเล่าไว้ในเรื่อง "อัคนีกรีฑา" ว่าด้วยวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของไทยว่าเรื่องบ้องไฟนี้โบราณเรียกว่ากรวดหรือจรวด เป็นการเล่นไฟของชาวบ้านโดยอ้างถึงหลักศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง เมื่อพุทธศักราช ๑๘๓๕ ว่า "เมืองสุโขทัยนี้มีสีปากประตู หลวงเทียรญ่อมคนเสียดคนเข้าดู ท่านเผาเทียนเล่นไฟเมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก" เป็นหลักฐานว่าการเล่นไฟประดิษฐ์จรวด กรวด หรือบ้องไฟรวมทั้งพลุ ตะไล และไฟพะเนียงได้รู้จัก และทำเล่นกันมานานเกือบ ๗๐๐ ปีแล้วเป็นการละเล่นที่สนุกสนานผู้คนเบียดเสียดกันเข้ามาดูแทบว่ากรุงสุโขทัยแตก

ส่วนงานประเพณีบั้งไฟเมืองยโสธรได้มีมานานแล้ว โดยมีหลักฐานว่า มีมาก่อนที่กรมหลวง- สรรพสิทธิประสงค์จะขึ้นไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล คือ เรื่องของกบฏผีบุญ หรือกบฏชาวนา กรมหลวง-สรรพสิทธิประสงค์ จึงห้ามการเล่นบั้งไฟ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๓๖ :๓๔)

จุดประสงค์ของการทำบุญบั้งไฟ
วามเป็จุดประสงค์ของการทำบุญบั้งไฟมีหลายอย่าง เช่น
๑. การบูชาคุณของพระพุทธเจ้า สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาขอน้ำฝน เชื่อมความ สมัครสมานสามัคคี แสดงการละเล่นการบูชาคุณของพระพุทธเจ้าชาวอีสานส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเทศกาลเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันประสูติวันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ชาวอีสานจะจัดดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาพระพุทธรูปการทำบุญบั้งไฟของชาวอีสานถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน
๒.การสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เนื่องจากการทำบุญบั้งไฟ มีการบวชพระและบวชเณรในครั้งนี้ด้วย จึงถือว่าเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา
๓. การขอฝนการทำนาไม่ว่าจะเป็นของภาคใดก็ต้องอาศัยน้ำฝน ชาวอีสานก็เช่นกันเนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้จึงมีความเชื่อเดียวกันกับสิ่งเหนือธรรมชาติจากตำนาน เรื่องเล่าของชาวอีสานเชื่อว่ามีเทพบุตรชื่อ โสกาลเทพบุตร มีหน้าที่บันดาลน้ำฝนให้ตกลงมา จึงทำบุญบั้งไฟขอน้ำจากเทพบุตรองค์นั้น
๔. การเชื่อมความสามัคคีคนในบ้านเมืองหนึ่งที่แตกต่างกันมาอยู่รวมกัน ถ้ามิได้ทำกิจกรรมร่วมกันก็จะมีฐานะต่างคนต่างอยู่ เมื่อบ้านเมืองเกิดความยุ่งยากจะขาดกำลังคนแก้ไขดังนั้น เมื่อทำบุญบั้งไฟก็จะเปิดโอกาสให้คนทั้งหลายได้มาร่วมแรงร่วมใจกันประกอบกิจกรรมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น ในหมู่คณะ
นม๕. การแสดงการละเล่นเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมาแสดงการละเล่น คนเราเมื่อได้เล่น ได้กินร่วมกันจะเกิดความรักใคร่ใยดีต่อกัน การเล่นบางอย่างจะสุภาพเรียบร้อย บางอย่างหยาบโลนแต่ก็ไม่ ถือสาหาความ ถือเป็นการเล่นเท่านั้น

การกำหนดการจัดงาน
ชาวอีสานส่วนใหญ่จัดประเพณีบุญบั้งไฟประมาณเดือน ๖ หรือเดือน ๗ เป็นช่วงที่เริ่มทำนาเพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลหรือเปรียบเสมือนประเพณีแห่นางแมวของทางภาคกลาง ส่วนในจังหวัดยโสธรจัดเป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดและจะจัดขึ้นทุกๆปีในวันที่ ๑๖พฤษภาคม
กิจกรรมและพิธีกรรมในงาน
ขั้นตอนการเตรียมบั้งไฟเริ่มจากทางบ้านในคุ้ม (เป็นหน่วยย่อยของชุมชนหมู่บ้าน) ซึ่งแต่ละคุ้มในเมืองยโสธรมีวัดอย่างน้อยหนึ่งวัดในบริเวณ จึงเรียกชุมชนเหล่านี้ว่าคุ้มวัดหรือคุ้มบ้าน ในความหมายถึงคุ้มของหมู่บ้าน (ดู นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์, ๒๕๓๖ :๓๘-๕๙) โดยแบ่งงานกันทำเริ่มจากทำบั้งไฟฝึกหัดฟ้อนรำประกอบขบวนแห่บั้งไฟการปลูกปะรำที่พักอาศัยเพื่อแขกที่เชิญมาร่วมงานจากหมู่บ้านอื่นมีการเตรียมอาหาร บ้านใดที่มีลูกสาวก็จะเตรียมตัดชุดรำเซิ้งอุปัชฌาย์จะเตรียมนาคเพื่อบวชในงาน เป็นช่วงที่ครึกครื้นมากสถานที่จัดงานสมัยก่อนจะใช้วัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางรวบรวมราษฎรมาช่วยกันทำบั้งไฟบั้งไฟแต่ละบั้งใช้เวลาในการทำประมาณสองถึงสามเดือนในปัจจุบันงานบุญบั้งไฟได้กลายเป็นงานที่ทาง จังหวัดเป็นผู้จัดดังนั้นทางเทศบาลจะจ่ายให้คุ้มละ ๓๐,๐๐๐ บาท (เมื่อปี ๒๕๓๕) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำบั้งไฟและขบวนแห่ ทั้งนี้ทางเทศบาลจะเป็นผู้กำหนดนางรำที่จะร่วมขบวนแห่งบประมาณที่ได้จาก จังหวัด ๑ ใน ๓เป็นค่าใช้จ่ายในการทำบั้งไฟที่เหลือใช้จ่ายในขบวนแห่ซึ่งเท่าที่ผ่านมางบประมาณไม่พอ ก็ต้องทำการเรี่ยไรกันในคุ้ม (นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์, ๒๕๓๖ : ๓๕)

ขั้นตอนในการทำบุญบั้งไฟต้องมีการศึกษาและเรียนรู้สืบทอดต่อๆกันมา คนที่เป็นช่างทำบั้งไฟเรียกว่า "ช่างบั้งไฟ" โดยทั่วไปจะถ่ายทอดต่อกันนับพ่อกับลูก ลูกกับหลานหรือครูกับลูกศิษย์เป็นคนๆ เท่านั้น ไม่ใช่คนทั่วไปอยากเรียนก็จะเรียนได้หมดครูจะเลือกถ่ายทอดให้ตัวต่อตัว สำหรับศิษย์ที่ครูเห็นว่ามีไหวพริบและมีพรสวรรค์ด้านการทำบั้งไฟเท่านั้นก่อนลงมือทำบั้งไฟต้องจัดหาอุปกรณ์ไว้ให้ครบ เพื่อความสะดวกในการทำบั้งไฟในปัจจุบันกับสมัยโบราณจะต่างกันในเรื่องระยะเวลา
ชนิดของบั้งไฟ
ชนิดของบั้งไฟมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการทำ อาจจะแยกเป็นแบบใหญ่ และนิยมทำกันมากมี ๓ แบบ คือแบบมีหาง แบบไม่มีหาง และบั้งไฟตะไลบั้งไฟมีหางเป็นแบบมาตรฐาน เรียกว่า "บั้งไฟหาง"มีการตกแต่งให้สวยงามเมื่อเวลาเซิ้ง เวลาจุดจะพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สูงมากควบคุมทิศทางได้เล็กน้อยบั้งไฟแบบไม่มีหางเรียกว่า "บั้งไฟก่องข้าว"รูปร่างคล้ายกล่องใส่ข้าวเหนียว ชนิดมีขาตั้ง เป็นแฉกถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดก็คล้ายจรวดนั่นเองบั้งไฟตะไล มีรูปร่างกลม มีไม้บางๆแบนๆ ทำเป็นวงกลมรอบหัวท้ายของบั้งไฟ เวลาพุ่ง ขึ้นสู่ท้องฟ้าจะพุ่งไปโดยทางขวาง บั้งไฟทั้งสามแบบที่กล่าวมา ถ้าจะแยกย่อยๆ ตามเทคนิคการทำและลักษณะรูปร่างของบั้งไฟจะแยกเป็นประเภทได้ ๑๑ ชนิด ดังนี้คือ

-บั้งไฟโมดหรือโหมด- บั้งไฟม้า
- บั้งไฟช้าง
- บั้งไฟจินาย
- บั้งไฟดอกไม้
- บั้งไฟฮ้อยหรือบั้งไฟร้อย
- บั้งไฟหมื่น
- บั้งไฟแสน
- บั้งไฟตะไล
- บั้งไฟตื้อ
- บั้งไฟพลุ
(ปรีชา พิณทอง, อร่ามจิต ชิณช่าง, ๒๕๓๗ : ๓๗-๔๑)


 

การแห่บั้งไฟ
การแห่บั้งไฟจะกำหนดไว้ ๓วัน คือ วันสุกดิบ วันประชุมเล่นรื่นเริง และวันจุดบั้งไฟ ในวัน สุกดิบคณะเซิ้งบั้งไฟแต่ละคุ้มแต่ละคณะจะนำบั้งไฟของตนพร้อมด้วยขบวนแห่มายังหมู่บ้านที่แจ้งฎีกาโดยจะแห่ไปรวมกันที่วัด และที่วัดจะมีการทำบุญและเลี้ยงแขกผู้ที่มีหน้าที่ต้อนรับจะปลูกกระท่อมเล็ก เรียกว่า "ผาม" ขึ้นตามลานวัดเพื่อเป็นที่จุดบั้งไฟและเป็นที่รับแขกที่จะมาประชุมกัน ทุกๆคนที่มาร่วมงานกันล้วนแต่งกายอย่างสวยงามทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะสาวๆถ้าสาวบ้านไหนไม่ไปเท่ากับผู้เฒ่าผู้แก่บ้านนั้น ไม่ยินดีร่วมทำบุญและไม่ร่วมมือถ้าพ่อแม่ขัดข้องโดยไม่มีเหตุจำเป็นจะเป็นบาป ตายแล้วต้องตกนรก แสนกัปแสนกัลป์และเป็นเหตุให้บ้านเมืองเดือดร้อน ฟ้าฝนไม่อุดมสมบูรณ์ทำไร่ทำนาไม่ได้ผล ปัจจุบันจังหวัดยโสธรได้จัดให้บั้งไฟคณะต่างๆ ไปทำพิธีบวงสรวงคารวะเจ้าปู่เจ้าพ่อหลักเมืองแล้วแต่ละคุ้มจะรำ เซิ้งเพื่อขอบริจาคไปตามสถานที่ต่างๆ ได้

เมื่อถึงวันที่สอง คือวันประชุมเล่นรื่นเริงหรือวันสมโภชคณะต่างๆจะนำบั้งไฟของตนไปปัก ไว้ที่ศาลาการเปรียญฝ่ายที่มีหน้าที่ต้อนรับแขกก็แขกรับไป พวกแขกก็มีธรรมเนียมเหมือนกันคือ ต้องมาเป็นขบวน มีคนตีฆ้อง ตีกลองนำขบวน มีพระและสามเณร ต่อด้วยประชาชนทั่วไปในขบวนนี้อาจจะมีแคน หรือเครื่อง ดนตรีอื่นๆเป่าหรือบรรเลงเพื่อความครึกครื้นไปด้วย ครั้นไปถึงลานวัดแล้วเจ้าภาพจะนำแขกไปยังผามที่ทำไว้ ขณะเมื่อแขกไปถึงผามจะตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณว่าแขกทั้งหลายได้มาถึงแล้วและจัดที่นั่งสำหรับพระและสามเณรไว้บนพื้นสูงแถวหนึ่ง ชายแก่อีกชั้นหนึ่งและรองลงมาก็จะเป็นหญิงแก่และสาวปนเปกันไปและต้องหันหน้าออกมาทางผาม สำหรับพวกหนุ่มๆที่ร่วมขบวนมาด้วยกันนั้นส่วนมากจะมารื่นเริงฟ้อนรำทำเพลงผสมปนเปกับเจ้าของถิ่นและพวก ที่มาจากถิ่นอื่น วันนี้อาจมีการบวชนาคและสรงน้ำพระภิกษุโดยนิมนต์ท่านสมภารวัด หรือพระคุณเจ้าวัดเจ้าคณะอำเภอนั้นๆขึ้นแคร่แห่ไปรอบวัดและนำนาคเข้าขบวนแห่ไปด้วย นาคพื้นเมืองจะแต่งตัวสวยงามมาก บางคนนั่งแคร่หรือขี่ม้า และมีคนตีฆ้องเดินนำขบวน มีการยิงปืนและจุดไฟตะไล อานม้าผูกกระพรวนด้วยอนึ่งในพิธีแห่บั้งไฟนี้ ถ้าบุคคลใดมีความประสงค์จะสรงน้ำพระภิกษุก็ให้มีการแห่พระภิกษุรูปนั้นออกนำ หน้านาคอีกทีหนึ่งการสรงน้ำพระเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฮดสรง การฮดสรงนี้เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่พระภิกษุรูปใดจะได้เลื่อนยศชั้น จึงจะได้รับการสรงน้ำ และมีการถวายจตุปัจจัยหรือสังฆบริภัณฑ์ เช่น ถวาย เตียงนอน เสื่อสาด หมอนอิง ไม้เท้า กระโถน ขันน้ำพานรองสำรับคาวหวาน ผ้าไตร ฯลฯ

ครั้นแห่ประทักษิณครบสามรอบแล้วจะนิมนต์พระรูปนั้นนั่งบนแท่นซึ่งทำลวดลายด้วย หยวกกล้วย แล้วสรงน้ำด้วยน้ำอบน้ำหอมครั้นเสร็จจากการสรงน้ำแล้วจึงอ่านประกาศชื่อของพระรูปนั้น ให้ทราบทั่วกันประกาศนั้นจะเขียนลงบนใบลานบ้าน แผ่นเงินบ้าง แผ่นทองบ้างตามกำลังยศเมื่ออ่านประกาศ แล้วเจ้าศรัทธาจะมอบจตุปัจจัยต่างๆ ที่จัดมานั้นถวายแด่พระภิกษุต่อจากนั้นมีพิธีสวดมนต์เย็นที่ ศาลาการเปรียญ ในปัจจุบันมีคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯโดยชาวยโสธรจะชวนเพื่อนๆที่สนิทนำผ้าป่ามาถวายที่บ้านเกิดของตนเป็นการกลับมาเยี่ยมบ้าน เที่ยวงานประเพณีบุญบั้งไฟและเป็นการทำบุญด้วย

วันแห่บั้งไฟตอนเช้ามีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ศาลาการเปรียญ และรับผ้าป่า จากนั้นนำขบวนแห่ไปคารวะมเหศักดิ์หลักเมืองเจ้าพ่อปู่ตาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน แล้วขบวนแห่บั้งไฟทุกคณะ
ไปตั้งแถวตามถนนแล้วแห่ไปตามเส้นทางที่คณะกรรมการจัดการกำหนดไว้ในขบวนแห่บั้งไฟที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ขบวนฟ้อนรำ ที่เรียกว่า เซิ้งบั้งไฟนำขบวนไปด้วยบั้งไฟแต่ละขบวนจะ ประกอบด้วยขบวนเซิ้งนำหน้าขบวนแสดงความเป็นอยู่ (อาชี)ตลกขบขัน

ในวันจุดบั้งไฟ ตอนเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระตักบาตรถวายภัตตาหาร เลี้ยงดูญาติโยม แล้วแห่บั้งไฟไปรอบพระอุโบสถเพื่อถวายแด่เทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วนำบั้งไฟออกไปที่จัดไว้สำหรับจุดบั้งไฟ

การจุดบั้งไฟจะจุดบั้งไฟเสี่ยงทายก่อนเพื่อเป็นการเสี่ยงทายว่าพืชผลทางการเกษตร ประจำปี จะดีเลวหรือไม่ กล่าวว่า คือถ้าบั้งไฟที่เสี่ยงทายจุดไม่ขึ้น (ชุติดค้าง) ก็ทายว่าน้ำประจำปีจะมากและทำให้ไร่ที่
ลุ่มเสียหาย ถ้าจุดแล้วขึ้นไประเบิดแตกกลางอากาศทายว่าแผ่นดินจะเกิดความแห้งแล้งแต่ถ้าบั้งไฟจุดขึ้นสวยงามและสูง ชาวบ้านจะเปล่งเสียงไชโยตลอดทั้งบริเวณลานเพราะมีความเชื่อว่า ข้าวกล้าและพืชไร่ในท้องทุ่งจะได้ผลบริบูรณ์

หลังจากลำเสี่ยงทายแล้วก็จะทำการจุดบั้งไฟเสียงหลังจากนั้นก็จะจุดบั้งไฟที่นำมาแข่งขัน บั้งไฟหมื่นและบั้งไฟแสนการจุดชนวนใช้เวลาไม่กี่นาทีบั้งไฟก็จะพุ่งไปในอากาศ การขึ้นของบั้งไฟจะมีเสียงดังวี้ด คล้ายคนเป่านกหวีดหรือเป่ากระบอกส่วนบั้งไฟแข่งขันจะจุดหลังบั้งไฟเสียงการจุดบั้งไฟแข่งขันถ้าบั้งไฟของคณะใดขึ้นสูงก็เป็นผู้ชนะ ถ้าขึ้นสูงมากก็จะโห่ร้องยินดีกระโดดโลดเต้นกันอย่างเต็มที่ และจะแบกช่าง ทำบั้งไฟเดินไปมาแต่ถ้าบั้งไฟของคณะใดไม่ขึ้นหรือแตกเสียก่อน ช่างบั้งไฟจะถูกลงโคลนตมไม่ว่าบั้งไฟจะขึ้นหรือไม่ขึ้นก็ตามก็จะจับโยนทั้งนั้น ช่างทำบั้งไฟจะเป็นคนจุดเองหรือบางทีคนในคณะบั้งไฟของตน ที่มีความชำนาญจะเป็นคนจุดกรรมการจะจับเวลาว่าใครขึ้นสูงกว่ากัน การจุดบั้งไฟนี้น่ากลัวมาก บางบั้ง ก็แตกบางบั้งก็ขึ้นสูงในวันจุดบั้งไฟนี้ประชาชนพากันมามุงดูอย่างคับคั่งนั่งอยู่ตามร่มไม้เป็นกลุ่มๆและพนันกันว่าบั้งไฟใครจะชนะ ขึ้นสูงหรือไม่ ตกหรือไม่ เป็นต้นบางทีมีบั้งไฟมากต้องจุด ๒ วัน ก่อนจุดต้องเอาเครื่องประดับบั้งไฟออกนำแต่บั้งไฟเท่านั้นไปจุด หลังจากจุดเสร็จแล้วจะมอบรางวัลให้กับบั้งไฟที่ขึ้นสูง ตามลำดับที่ ๑ - ๓จากนั้นคณะเซิ้งพากันเซิ้งกลับไปบ้านของตนหรือบ้านช่างทำบั้งไฟ

การนำรอยไฟ (การนำฮอยไฟ) หมายถึง การเล่นสนุกหลังจากจุดบั้งไฟแล้ว มีการตามช่างและชาวบ้านที่เป็นเจ้าบ้านไปดื่มเหล้าและเล่นสนุกสนานกันอีกการตามรอยไฟจะสูตรขวัญให้ช่างทำ บั้งไฟด้วย คือเริ่มแรกอาราธนาสูตรขวัญเพื่อทำขวัญช่างเมื่ออาราธนาเสร็จแล้วหมอก็เริ่มการสูตรขวัญบ้านที่ทำการสูตรขวัญเป็นบ้านช่างทำบั้งไฟ ทุกคนในบ้านจะออกมานั่งรับการสูตรขวัญหมอสูตรขวัญนำคำ สูตรขวัญที่ดีๆมาสูตร เสร็จแล้วมีการผูกแขนเพื่อเป็นมงคลหลังจากสูตรขวัญและผูกแขนช่างทำบั้งไฟแล้ว ก็รับประทานอาหารกันอย่างสนุกสนานการนำรอยไฟปฏิบัติกันทั่วไป ปัจจุบันปฏิบัติกันน้อยลง การเซิ้งตามรอยไฟเป็นการเซิ้งเพื่อเยี่ยมเยียนตามบ้านเรือนชาวบ้านจนถึงค่ำจึงเลิกรากันไปเนื้อความของกาพย์เซิ้ง ในตอนนี้เป็นการขอเหล้าสาโทดื่มฉลองมีการกล่าวขอบคุณและให้ศีลให้พร (ดูตัวอย่างคำให้ศีลให้พรใน ปรีชา พิณทอง, อร่ามจิตชิณช่าง, ๒๕๓๗ : ๔๓-๔๔)

ประเพณีบุญบั้งไฟกับชีวิตของชาวอีสานจึงมีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น ชาวอีสานจะจัดทำบุญบั้งไฟกันอย่างเอิกเกริก ยิ่งปีใดฝนแล้งจะต้องทำเป็นกรณีพิเศษนอกจากนี้ยังถือเป็นการทำบุญ ประกอบคุณงามความดีตามความเชื่อถือที่มีมาแต่โบราณกาลเช่น มีงานบวชนาค งานสรงน้ำพระพุทธรูป งานถือน้ำพิพัฒน์ต่อหน้าพระพุทธรูปกล่าวได้ว่าชาวอีสานใช้บั้งไฟเป็นสื่อในการให้ประชาชนทำบุญเป็นสื่อในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับพญาแถนบั้งไฟจึงมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของคนอีสาน ในฐานะเป็นเครื่องมือของพิธีขอฝนเพื่อให้ตกต้องตามฤดูกาลนอกจากนี้ประเพณีบุญบั้งไฟยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านจาก หมู่บ้านและตำบลต่างๆได้มาช่วยกันทำบุญบั้งไฟ มาร่วมกันสนุกสนานเป็นการรวมพลังประชาชนให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ฝึกให้รักและสามัคคีกันได้เป็นอย่างดี

ผีฟ้า


ผีฟ้า
ตำนานผีฟ้า

ชาวอีสานมีความเชื่อถือต่อ "ผี" มาก เพราะมีความเชื่อว่าเหตุที่เกิดเภทภัยเจ็บไข้ได้ป่วย น้ำท่วม ฝนแล้งนาล่ม หรือพืชพันธุ์ ธัญญาหารเหี่ยวแห้ง เป็นสิ่งที่เกิดมาจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของผีสางเทวดาทั้งสิ้น พวกเขาจึงเซ่นไหว้บวงสรวงผีต่างๆ และมีสิ่งที่หน้าสังเกตคือ ทุกครั้งที่มีการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกๆ ฤดูกาล แล้วจะเกิดแต่ความสุขไปทั่ว ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็หาย ข้าวกล้าในนาก็อุดม สมบูรณ์ดี และการที่มีคติความเชื่อดังกล่าวนี้ ก็ทำให้เกิดประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีหลายลักษณะ และพีธีบูชา ผีฟ้า ก็เป็นอีกพิธีหนึ่ง

ผีฟ้า หรือ ผีแถน นั้น ชาวอีสานมีความเชื่อว่าเป็นเทวดามากกว่าเป็นผี ผีฟ้าจึงเป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีชนิด อื่นๆ ส่วนแถนนั้น มีความเชื่อว่าเป็นคำเรียกรวมถึงเทวดา และแถนที่ใหญ่ที่สุดคือ "แถนหลวง" ซึ่ง เชื่อว่าเป็นพระอินทร์ ผีฟ้าหรือผีแถนนั้นแต่ละพื้นที่มีการเรียกที่แตกต่างกันไป และมีความเชื่อว่า ผีฟ้า นั้นสามารถที่จะ ดับยุคเข็ญหรือทำลายล้างอุปสรรคทั้งปวงได้ และสามารถที่จะช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อนได้ การที่มนุษย์เกิดการเจ็บป่วยนั้นเนื่องจากไปละเมิดต่อผี การละเมิดต่อบรรพบุรุษ การรักษาต้องมีการเชิญผีฟ้ามาสิงสถิตอยู่ในร่างของคนทรง เรียกว่า "ผีฟ้า นางเทียน" ในการลำผีฟ้าของชาวอีสานนั้นมีองค์ประกอบ ทั้งหมด ๔ ส่วนคือ หมอลำ ผีฟ้า หมอแคน ผู้ป่วย และเครื่องคาย

หมอลำผีฟ้า จะ เป็นผู้หญิงที่มีอายุหรือบางท้องถิ่นจะเป็นผู้หญิงสาว โดยเฉพาะที่จังหวัดเลย และจะต้องสืบเชื้อสายมาจาก กลุ่มหมอลำผีเท่านั้น แต่ที่จริงผีฟ้าสามารถสิงได้ทั้งหญิง ชาย และเด็ก โดยไม่จำกัดอายุ หมอแคน (หมอม้า) จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการเป่าแคนมาเป็นอย่างดี เพราะในการประกอบพิธีจะต้องใช้เวลานาน จะต้องมีการเป่าอยู่ตลอดเวลา ส่วนผู้ป่วยนั้น จะต้องแต่งกายตามที่ได้กำหนดไว้ คือ มีผ้าไหมหรือผ้าขาวม้าพาดบ่า มีดอกมะละกอ ซึ่งตัดร้อยเป็นพวงทัดหู ผู้ป่วยนั้นสามารถที่จะฟ้อนรำกับหมอลำได้.. และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ เครื่องคาย เป็นสิ่งที่อัญเชิญครูอาจารย์ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วมาช่วยเหลือ รักษาผู้ป่วย

ในการรำผีฟ้านั้น จะมีความแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น เมื่อครูบาเก่าเข้าสิงร่าง ผู้ทำพิธีจะต้องสวมผ้าซิ่นทับผ้าที่สวมอยู่ (กรณีที่ผู้ป่วยเป็นชาย) หรือถ้าผู้ป่วยเป็นผู้หญิงครูบาจะสวมผ้าแพรหรือผ้าฝ้าย โดยสวมทับผ้านุ่งเดิม ซึ่งจะจัดไว้อยู่ใกล้เครื่องคาย ในการรักษาทุกคนจะต้องฟ้อนรำ กันทุกคน และขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยต้องการดูการฟ้อนรำก็จะทำหน้าที่ต่อไป แต่ถ้าไม่ต้องการ ครูบาก็จะนำเครื่องคายขึ้นไปเก็บบนหิ้ง และจะมาร่วมกันรับประทานอาหาร

ความ เชื่อของชาวอีสานเชื่อว่า ผีฟ้าสามารถที่จะกำหนดการเกิดการตายของมนุษย์ได้ การที่มนุษย์ตายไปขวัญจะออกจากร่าง เพื่อไปพบบรรพชน แต่ขวัญจะไม่แตกดับเหมือนร่าง เป็นเพียงการจากไปของร่างแต่วิญญาณยังคงอยู่กับผู้มีชีวิต สาเหตุที่มีการฟ้อนรำกันนั้น ก็เพื่อเป็นการทำให้คนไข้มีพลังจิตในการต่อสู้กับการเจ็บป่วย มีอารมณ์ผ่อนคลาย ความตึงเครียด จิตใจปลอดโปร่ง ไร้วิตกกังวล และสร้างจิตสำนึกด้านความกตัญญู เป็นคตินิยมของวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็น ประเพณี จะเห็นว่าผีฟ้านั้น เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมนุษย์ โดยมีคติเตือนใจว่า "คนไม่เห็น ผีเห็น"

สำหรับ ทุกวันนี้ การรำผีฟ้าดูจะเสื่อมคลายลงไป เพราะความเจริญทางด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่สำหรับ ชาวอีสานบางกลุ่ม การกระทำพิธีกรรมเกี่ยวกับผีฟ้า ไม่ใช่เป็นสิ่งงมงายเหลวไหลหรือไร้สาระสิ้นเชิงเสียทีเดียว...

โปงลาง







โปงลาง มีลักษณะวิธีการบรรเลงคล้ายกับระนาดเอก คือนำท่อนไม้ หรือกระบอกไม้มาร้อยติดกันเป็นผืน และใช้ไม้ตีเป็นทำนองเพลง แขวนตี กับเสาบ้าง ขึงบนรางบ้าง หรือบางทีก็ผูกติดกับตัวผู้บรรเลง เครื่องดนตรีชนิดนี้พบทั่วไปในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทยพบในแถบภาคอีสาน และเรียกเครื่องดนตรีนี้หลายชื่อด้วยกัน เช่นเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือหมากโปงลาง เป็นต้น ที่ได้ชื่อว่า หมากขอลอ เพราะเวลาเคาะแต่ละลูกมีเสียงดังกังวานคล้าย ขอลอ (หมายถึง เกราะ ในภาษาอีสาน)
            ส่วนคำว่า โปงลาง นั้น เดิมเป็นคำที่ใช้เรียก กระดึงสำริด ที่ใช้แขวนคอวัวในสมัยโบราณที่เรียกกระดึงนี้ว่าโปงลางคงเรียกตามเสียงที่ได้ยิน ต่อมามีผู้นำชื่อนี้ไปตั้งเป็นชื่อ ลายแคน (การบรรเลงแคน) ที่เป่าเลียนเสียงโปงลางที่ผูกคอวัวเรียกว่า ลายโปงลาง และที่เรียกว่าหมากกลิ้งกล่อมก็เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงไพเราะ สามารถกล่อมให้ผู้ฟังมีความเคลิบเคลิ้มเพลิดเพลิน



            โปงลาง นิยมทำจากไม้มะหาด หรือไม้หมากเหลื้อม เพราะเป็นไม้ที่มีความอยู่ตัวมากกว่าไม้อื่นๆ วิธีการทำเอาไม้มาถากเหลาให้ได้ขนาดลดหลั่นกันตามเสียง ที่ต้องการในระบบ 5 เสียง โปงลาง 1 ชุดจะมีจำนวนประมาณ 12 ลูก ใช้เชือกร้อยรวมกันเป็นผืน เวลาตีต้องนำปลายเชือกด้านหนึ่งไปผูกแขวนไว้กับเสาในลักษณะห้อยลงมา ส่วนปลายเชือกด้านล่างจะผูกไว้กับขา หรือเอวของผู้ตี วิธีการเทียบเสียง โปงลาง ทำโดยการเหลาไม้ให้ได้ขนาด และเสียงตามต้องการ ยิ่งเหลาให้ไม้เล็กลงเท่าใดเสียงก็จะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งแตกต่างจากระนาดในปัจจุบัน

ที่มีเจ็ดเสียง และมีการปรับแต่งเทียบเสียงด้วยการใช้ ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง ถ่วงใต้ผืนระนาด เพื่อให้ได้ระดับเสียง และคุณภาพเสียงที่ต้องการ การบรรเลงหมากกลิ้งกล่อม หรือโปงลาง นิยมใช้ผู้บรรเลงสองคนต่อเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น แต่ละคนใช้ไม้ตี ๒ อัน การเรียกชื่อเพลงที่บรรเลงด้วยโปงลางมักจะเรียกตามลักษณะและลีลาของเพลงโดยการสังเกตจากสภาพของธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น เพลง "ลายนกไซบินข้ามทุ่ง" หรือเพลง "ลายกาเต้นก้อน" เป็นต้น

โปงลางนั้นนอกจากจะใช้บรรเลงตามลำพังแล้ว ยังนิยมใช้บรรเลงเป็นวงร่วมกับ เครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น พิณ แคน กลอง เพื่อการฟังและใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนพื้น บ้านอีสานได้เป็นอย่างดี ต่อมาภายหลัง อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ ได้ประยุกต์วงโปงลางขึ้นใหม่ โดยนำกระดึงผูกคอวัวที่เป็นโลหะมาแขวนเรียงแทนลูกโปงลางเดิมที่ทำด้วยไม้ ทำให้เกิดมิติของเสียงที่แตกต่างจากการบรรเลงโปงลางแบบเดิม นับเป็นต้นแบบของ การพัฒนาโปงลางในระยะต่อมา เช่น การทำลูกโปงลางด้วยแผ่นทองเหลืองขนาดต่าง ๆ รวมถึงการนำเอาไม้ไผ่มาเหลาให้มีขนาดลดหลั่นกัน ทำให้ได้เสียงที่ทุ้มและนุ่มนวลขึ้น



ต้นกำเนิดโปงลาง


โปงลาง

        โปงลาง บางแห่งเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากเตอะเติน เป็นเครื่องดนตรีที่พัฒนามาจาก "เกราะลอ" หรือ ขอลอ คำว่า "โปงลาง" นี้ ใช้เรียกดนตรีชนิดหนึ่ง ที่มีการเล่นแพร่หลายทางภาคอีสานตอนกลางและตอนเหนือบางส่วน โดยเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์ มีการเล่นแพร่หลายมาก เพราะเป็นที่กำเนิดโปงลาง ความหมายของโปงลางนั้นมาจากคำ ๒ คำ คือ คำว่า "โปง" และ "ลาง"
        โปง เป็นสิ่งที่ใช้ตีบอกเหตุ เช่น ตีในยามวิกาลแสดงว่ามีเหตุร้าย ตีตอนเช้าก่อนพระบิณฑบาตให้ญาติโยมเตรียมตัวทำบุญตักบาตร และ ตีเวลาเย็นเพื่อประโยชน์ให้คนหลงป่ากลับมาถูก เพราะเสียงโปงลางจะดังกังวาลไปไกล (สมัยก่อนใช้ตีในวัด) ส่วนคำว่า ลาง นั้น หมายถึง ลางดี ลางร้าย
        โปงลางนั้นก่อนที่จะเรียกว่า โปงลาง มีชื่อเรียกว่า "เกราะลอ" ซึ่ง เกราะลอ มีประวัติโดยย่อคือ ท้าวพรหมโคตร ซึ่งเคยอยู่ประเทศลาวมาก่อนเป็นผู้ที่คิดทำเกราะลอขึ้น โดยเลียนแบบ "เกราะ" ที่ใช้ตีตามหมู่บ้านในสมัยนั้น เกราะลอทำด้วยไม้หมากเลื่อม (ไม้เนื้ออ่อน สีขาว มีเสียงกังวาล ) ใช้เถาวัลย์มัดร้อยเรียงกัน ใช้ตีไล่ฝูงนก กา ที่มากินข้าวในไร่ ในนา ต่อมาท้าวพรหมโคตร ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านกลางเหมือน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ถ่ายทอดการตีเกราะลอให้แก่นายปาน นายปานได้เปลี่ยนเกราะลอ จากเดิมมี 6 ลูก เป็น 9 ลูก มี 5 เสียง

คือ เสียง โด เร มี ซอล และ ลา เมื่อนายปานเสียชีวิต นายขานน้องนายปานได้รับการถ่ายทอดการตีเกราะลอ และนายขานนี่เองที่เป็นคนถ่ายทอด การตีเกราะลอให้กับศิลปินแห่งชาติผู้พัฒนาโปงลางให้เป็นเครื่องดนตรีที่ใครๆ ก็รู้จัก นายเปลื้อง ฉายรัศมี

เนื่องจากเกราะลอใช้สำหรับตีไล่ ฝูงนก กา ที่มากินข้าวในไร่นา ดังนั้น จึงมีเกราะลออยู่ในทุกโรงนา (อีสานเรียกว่า เถียงนา) เมื่อเสร็จจากภาระกิจในนาแล้ว ชาวนาจะพักผ่อนในโรงนาและใช้เกราะลอเป็นเครื่องตี เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ โดยเกราะลอนี้จะตีนอกหมู่บ้านเท่านั้น เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าตีในหมู่บ้านจะเกิดเหตุการไม่ดี เช่น ฟ้าฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นต้น
            การเรียนการตีเกราะลอในสมัยก่อน เป็นการเลียนแบบ คือเป็นการเรียนที่ต้องอาศัยการจำโดยการจำทำนองของแต่ละลาย เกราะลอที่มี 9 ลูกนี้จะเล่นได้ 2 ลายคือ ลายอ่านสือใหญ่ (อ่านหนังสือใหญ่) และลายสุดสะแนน (เช่นเดียวกับลายแคนและลายพิณ ดังนั้นเมื่อนำมาเล่นผสมผสานกันจึงได้อรรถรสยิ่งนัก)

        ปี พ.ศ 2490 นายเปลื้อง ได้เรียนวิธีทำเกราะลอ และการตีเกราะลอ จากนายขาน ลายที่ตีคือ ลายภูไทใหญ่ หรืออ่านหนังสือใหญ่ นอกจากนั้น นายเปลื้อง ยังเป็นคนที่นำเกราะลอมาตีในหมู่บ้านเป็นคนแรก ในปีแรกนั้นการตีเกราะลอไม่เพราะหูคนฟังเท่าไรนัก 2 ปีต่อมาการตีเกราะลอของนายเปลื้องจึงดีขึ้น จนชาวบ้านพากันนิยมว่าตีได้ดี
        ปี พ.ศ 2500 นายเปลื้อง ได้วิวัฒนาการ การทำเกราะลอ จากแต่ก่อนหน้านี้ที่ทำด้วยไม้หมากเลื่อม มาเป็นไม้หมากหาด ( มะหาด , หาด ) ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง เวลาตีแล้วไม่บวมง่าย โดยเฉพาะไม้ที่ตายยืนต้น เสียงจะกังวาล ที่เอาไม้หมากหาดมาทำโปงลางนี้ นายเปลื้องได้รับแนวคิดจากพระที่วัด ที่นำไม้นี้มาทำโปงที่ตีบอกเหตุ หรือตีให้สัญญาณดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
        ต่อมานายเปลื้อง ได้คิดทำเกราะลอ เพิ่มลูกจาก 9 ลูกมาเป็น 12 ลูก เมื่อทำเสร็จลองตีดูเห็นว่าเสียงเพราะมาก
        ดังนั้นในปี พ.ศ 2502 นายเปลื้องจึงเพิ่มลูกเกราะลอจาก 12 ลูกมาเป็น 13 ลูก และเพิ่มเสียงจาก 5 เสียงเป็น 6 เสียงคือ เสียง โด เร มี ฟา ซอล และลา (ส่วนเสียง ซี นั้น ดนตรีพื้นเมือง


ของอีสานจะไม่ปรากฏเสียงนี้ จึงไม่เพิ่มเสียงนี้ไว้) และได้คิดลายใหม่ๆ เพิ่มเป็น 5 ลาย คือ ลายอ่านหนังสือใหญ่ ลายอ่านหนังสือน้อย ลายสุดสะแนน ลายสร้อย และได้เปลี่ยนชื่อ "เกราะลอมา" เป็น "โปงลาง" ซึ่งเรียกชื่อ ดนตรีชนิดนี้ว่า โปงลาง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ 2505 นายเปลื้องซึ่งสนใจและศึกษาโปงลาง หรือ เกราะลอเดิม มาตั้งแต่อายุ 14 ปี ตั้งแต่การเล่นนอกหมู่บ้านและนำมาเล่นในหมู่บ้าน และเคยรับงานแสดงในเทศกาลต่างๆ แต่การเล่นมักจะเป็นการเล่นเดี่ยวเท่านั้น นายเปลื้องจึงได้เกิดแนวความคิดว่า ดนตรีอีสานมีหลายอย่างด้วยกัน หากนำมาบันเลงร่วมกันคงจะมีความไพเราะและเร้าใจมากขึ้น จึงได้รวมเพื่อนๆ ตั้งวงโปงลางขึ้น โดยนำเอา ซอ พิณ แคน กลอง หมากกั๊บแก้บ ไห มาร่วมกันบรรเลง และได้รับความสนใจจากผู้ที่ได้รับชมเป็นอันมาก

            ปี พ.ศ 2511 นายเปลื้อง ได้พบกับนายประชุม อินทรตูล ซึ่งเป็นป่าไม้ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ นายประชุมให้การสนับสนุน และตั้งวงโปงลางขึ้นใหม่ ชื่อว่า วงโปงลางกาฬสินธุ์ นอกจากจะมีเครื่องดนตรีและเครื่องประกอบจังหวะแล้ว ยังมีรำประกอบอีกด้วย รำในขณะนั้นก็มีรำโปงลาง รำซวยมือ รำภูไท เป็นต้น วงโปงลางกาฬสินธุ์ได้รับความนิยมตลอดมา และได้มีการอัดเทปขายให้กับผู้สนใจด้วย

เนื่องจากนายเปลื้อง ได้เปลี่ยนและย้ายไปทำงานหลายแห่ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่นายเปลื้องทำงานในที่ต่างๆ ก็จะเผยแพร่และฝึกสอนโปงลาง และดนตรีพื้นบ้านอีสานแก่ผู้สนใจ และตั้งวงโปงลางให้แก่ที่ที่ทำงานนั้นๆ เสมอ โดยเฉพาะวงโปงลางกาฬสินธุ์นั้น นายเปลื้องได้ควบคุม ดูแล ฝึกสอนและพัฒนาตลอดมา จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้อย่างแพร่หลาย จนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวาง ได้มีโอกาสแสดง ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ ขอนแก่น แสดงงานเฉลิมพระชนมพรรษา ที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น



        นอกจากจะได้แสดงเผยแพร่ทางสื่อมวลชนสาขาต่างๆ แล้ว วงโปงลางยังได้มีโอกาสไปแสดงที่สวนจิตรลดา วังละโว้ วังสราญรมย์ สวนอัมพร และตามจังหวัดสำคัญใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี เมืองโบราณสมุทรปราการ โดยก่อนหน้านั้นนายเปลื้องยังได้มีโอกาสนำโปงลางไปบรรเลงพื่อเป็นการต้อนรับ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในโอกาสที่ท่านเดินทางมาเยี่ยมค่ายพระยอดเมืองขวาง จังหวัดนครพนมอีกด้วย
        ถึงแม้ว่า โปงลาง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่นายเปลื้องได้พัฒนาขึ้นมานี้ จะมีอายุไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานชนิดอื่น เช่น แคน พิณ ซอ เป็นต้น แต่เนื่องจากโปงลาง เป็นดนตรีที่มีเสียง

ไพเราะกังวาล และให้ความรู้สึกของความเป็นพื้นบ้านอีสานได้อย่างแท้จริง จึงทำให้โปงลางได้รับความนิยม และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง จึงทำให้ได้รับเลือกเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรื่อง "แคนลำโขง" และ "แผ่นดินแม่" ซึ่งนายเปลื้องได้ลงมือบรรเลงโปงลาง ดนตรีที่ตนเองพัฒนามาประกอบภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนี้ด้วยตนเอง

เนื่องจาก "โปงลาง" ได้รับความนิยมสูงมาก ดังนั้นทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 โดยรายการชีพจรลงเท้า ได้ติดต่อนายเปลื้อง เพื่อสัมภาษณ์สาธิตวิธีทำและการเล่น ให้ได้ออกอากาศเผยแพร่ไปทั่วประเทศ
            นอกจากจะเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในประเทศไทยเราแล้ว เมื่อปี พ.ศ 2516 นายเปลื้อง ฉายรัศมี โดยการนำของ ร้อยโทวิรัตน์ พงษ์สวัสดิ์ ได้เดินทางไปในลักษณะการท่องเที่ยว แต่ได้นำศิลปะวัฒนธรรมไปแสดงด้วย ซึ่งในครั้งนี้ นายเปลื้อง ได้มีโอกาสนำ โปงลาง ไปแสดงที่มาเลเซีย สิงคโปร์ อิหร่านและกรีซ ซึ่งทำให้ "โปงลาง" ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้น และสามารถใช้เป็นสื่อทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้นยังมีชาวสวิสและชาวอเมริกัน ได้ฟัง "โปงลาง" แล้วสนใจ และได้นำไปยังประเทศของตนอีกด้วย

            นอกจากจะทำหน้าที่สอนดนตรีพื้นบ้านอีสานแก่นักเรียนนาฎศิลป์ ของวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์แล้ว นายเปลื้องยังได้ร่วมมือกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดการอนุรักษ์ เผยแพร่ และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของอีสานอีกทางหนึ่งด้วย โดยจัดการอบรมและฝึกสอนดนตรีพื้นบ้านอีสาน จัดการประกวดโปงลาง จัดกิจกรรมวัฒนธรรมสัญจร เป็นต้น นอกจากนั้นด้วยความร่วมมือของท่านผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ ได้ตั้งวงโปงลางของวิทยาลัยขึ้น ได้มีโอกาสเผยแพร่ไปในต่างจังหวัด เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และยังมีโอกาสไปแสดง ณ. ประเทศอินเดียด้วย
            ปัจจุบันนี้นายเปลื้องได้เป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ที่วิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ ทำหน้าที่สอนดนตรีพื้นบ้านอีสาน ได้แก่ พิณ ซอ แคน โปงลาง โหวด และอื่นๆ แก่นักเรียนนาฎศิลป์ พร้อมทั้งควบคุมวงโปงลางของวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์

นายเปลื้อง ฉายรัศมี เป็นนักดนตรีพื้นบ้านอีสานอย่างแท้จริง เป็นผู้มีความสามารถพิเศษ สามารถเล่นและสอนดนตรีพื้นบ้านอีสานได้เกือบทุกชนิด ทั้ง พิณ แคน ซอ โปงลาง และอื่นๆ โดยเฉพาะโปงลางนั้น สามารถถ่ายทอดและเล่นได้ดีเป็นพิเศษ
            และที่สำคัญที่สุดคือ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ได้เป็นผู้ศึกษา ค้นคว้า ปรับปรุง และพัฒนาโปงลางตลอดระยะเวลา 40 ปี จนทำให้เกราะลอซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่ใช้ตีไล่นกกาตามไร่ ตามนา พัฒนาเป็น "โปงลาง" ที่มีสภาพเป็นเครื่องดนตรี เอกลักษณ์ของภาคอีสานเคียงคู่กับแคน ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว นายเปลื้อง ฉายรัศมี จึงควรแก่การยกย่องเชิดชูไว้ในฐานะเป็น "ศิลปินแห่งชาติ" สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน โดยแท้จริง

วิธีทำโปงลาง

ไม้ที่ใช้ทำโปงลางนั้นส่วนมากจะไม้เนื้อแข็ง เพราะจะให้เสียงที่ไพเราะและกังวาล ไม้ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ ไม้หมากหาด ( มะหาด ) ใช้ทำลูกโปงลาง ไม้ประดู่ใช้ทำไม้ตีและขาตั้ง ไม้มะหาดนั้นจะแบ่งได้เป็น 3 ชนิด โดยจะแบ่งตามเกรด ดังนี้

ไม้มะหาดทองคำ จัดอยู่ในเกรด A
ไม้มะหาดดำ จัดอยู่ในเกรด B
ไม้มะหาดน้ำผึ้ง จัดอยู่ในเกรด C
การเลือกไม้

การเลือกไม้ที่จะนำมาใช้ทำโปงลางนั้น จะต้องเป็นไม้มะหาดที่ตายแล้วประมาณ 20 ปีขึ้นไป เพราะจะให้เสียงที่ดี กังวาน และไม่ผิดเพี้ยนหลังจากการผลิต ส่วนไม้มะหาดที่ยังสดอยู่นั้น จะไม่ใช้เพราะจะทำให้เสียงเพี้ยนไปจากความเป็นจริง และเสียงจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อไม้แห้งลง

วิธีทำลูกโปงลาง

ไม้ที่ตัดมาจากต้นจะตัดเป็นท่อนๆ ท่อนละ 65 เซนติเมตร ท่อนหนึ่งจะผ่าแบ่งเป็นลูกโปงลางได้ 4-8 ลูก แล้วแต่ขนาดของท่อนไม้ ถ้าเป็นวิธีทำสมัยโบราณไม่มีเครื่องทุ่นแรงใดๆ เมื่อนำมีดมาถากไม้พอกลม ก็นำมาใช้ได้เลย ต่อมาได้นำเครื่องทุ่นแรงมาใช้คือ กบมือ จึงได้นำกบมือมาไสไม้ที่ทำโปงลางให้มีความกลมและสวยงามมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน
            ใช้มีดถากให้กลมพอประมาณ และขั้นตอนต่อไป นำไปเข้าเครื่องกลึงเพื่อความสวยงาม ละเอียด และกลมมากขึ้น เมื่อกลึงเสร็จแล้ววัดและตัดขยาดความยาว ลูกแรกยาว 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์ 7 เซนติเมตร ลูกต่อมาลดลงตามส่วน ห่างกันลูกละ 1 เซนติเมตร ลูกสุดท้ายยาว 29 เซนติเมตร
            ขั้นตอนต่อไป นำไม้มาวัดหัวท้ายข้างละ 12 เซนติเมตร และลดลงตามส่วน ลูกล่างสุดวัดได้ 6 เซนติเมตร ในแต่ละข้าง เรียงไม้ให้สม่ำเสมอกัน แล้วนำมีดมาถากให้มีลักษณะเว้าทั้ง 2 ข้าง ของลูกโปงลาง แล้วนำมาแต่งเสียงโดยวิธีการตัดไม้ออก และเทียบเสียงให้เข้ากับ โปงลางต้นแบบ ขั้นตอนสุดท้าย เจาะรู โดยวัดเข้ามาวิธีเดียวกันกับการถากลูกโปงลางให้เว้า

การเทียบเสียง

เสียงโปงลางถ้าใช้กับวงพื้นบ้านอีสานทั่วไป จะใช้ แคน เป็นหลักในการบันทึกเสียง แต่ถ้าจะใช้บรรเลงกับวงดนตรีสากล จะต้องใช้ คีย์บอร์ด, อิเล็คโทนในการเทียบเสียง หรือไม่ก็ใช้เครื่องเทียบเสียงสากล ในการเทียบเสียงลูกโปงลางในแต่ละลูก เสียงที่ได้มาจะเข้ากับเครื่องดนตรีสากลได้เป็นอย่างดี