"เฮามาซ่อยสืบสร้าง วัฒนธรรมอีสาน"

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พิธีบายศรีสู่ขวัญ



ความสำคัญของพิธีบายศรีสู่ขวัญ และประเภทของการสู่ขวัญ



ความสำคัญของพิธีบายศรีสู่ขวัญ
สาร สาระทัศนานันท์ ,(2527) ได้ให้ความสำคัญของพิธีบายศรีสู่ขวัญไว้ว่า พิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีที่สำคัญของชาวอีสาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น การดำเนินชีวิตของชาวอีสานแทบทุกอย่าง จึงมีการบายศรีสู่ขวัญควบคู่กันไปเสมอ เป็นการเรียกร้องพลังทางจิต ช่วยให้มีพลังใจที่เข้มแข็ง สามารถฟันฝ่าภัยพิบัติต่างๆได้ การสู่ขวัญช่วยทำให้เกิดมงคล ทำให้ดำรงอยู่ด้วยความสุขราบรื่น มีโชคลาภมากขึ้น และอาจดลปรารถนาให้ผู้ที่เคราะห์ร้ายพ้นจากสรรพเคราะห์ทั้งปวง ด้วยมูลเหตุแห่งการสู่ขวัญนี่เอง

การประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญของชาวอีสาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ ช่วยก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น ซึ่งชาวอีสานเห็นความสำคัญทางจิตใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นวิถีการดำเนินชีวิตแทบทุกอย่างจึงมักจะมีการสู่ขวัญควบคู่กันไปเสมอ การสู่ขวัญจะช่วยให้เกิดศิริมงคล ชีวิตอยู่ด้วยความราบรื่น จิตใจเข้มแข็ง โชคดียิ่งขึ้น ปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดี หายจากสรรพเคราะห์ทั้งปวง ทั้งพิธีบายศรีสู่ขวัญมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ว่าจะจัดพิธีสู่ขวัญในเรื่องใด เช่นการสู่ขวัญเด็ก การสู่ขวัญนาค การสู่ขวัญบ่าวสาว หรือจะเป็นการสื่อขวัญในเหตุที่ทำให้เกิดการเสียขวัญ จิตใจไม่ดี เพื่อเรียกให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว สิ่งไม่ดีให้ผ่านพ้นไป มีพลังใจที่ดี รวมทั้งการสู่ขวัญสัตว์ และสิ่งต่างๆก็อาจทำได้ แต่การปฏิบัตินอกจากจะมีเครื่องขวัญที่ใช้ในพิธีแล้ว พิธีการต่างๆก็จะแตกต่างกันไปเป็นปลีกย่อย แล้วแต่ลักษณะพิธี ซึ่งประเพณีบายศรีสู่ขวัญในภาคอีสาน เป็นประเพณีที่ประชาชนส่วนมาก ยังนิยมปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป เพราะถือว่าเป็นพิธีที่เป็นศิริมงคล เป็นการมอบความปรารถนาดีและดลบันดาลให้ ผู้รับการทำพิธีตลอดจนผู้เกี่ยวข้องมีความสุขความเจริญ และจิตใจสงบสุข และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรักใคร่กันเป็นอย่างดี นับเป็นวัฒนธรรมที่ดี ควรแก่การอนุรักษ์ให้อยู่สืบไป(....................................)
การบายศรีสู่ขวัญ เป็นวัฒนธรรมอันดีของชาวอีสานและชาวเหนือจัดขึ้นเพื่อเป็นการรับขวัญ และเรียกขวัญของผู้ที่จากบ้านไปไกลด้วยเวลาอันยาวนาน หรือผู้ที่เพิ่งหายป่วยไข้ ตลอดจนเป็นการแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในทางราชการ และเป็นการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน ซึ่งในภาคอีสานนั้น เมื่อมีการจัดงานอะไรก็ตาม ก็จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญควบคู่ไปด้วย การจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญก็เพื่อต้อนรับแขกนั้น มักจะทำกันอย่างสวยงาม ใหญ่โต(..............................................)






ประเภทของการสู่ขวัญ
การสู่ขวัญของชาวอีสานเป็นพิธีกรรมที่กระทำสืบต่อกันมานาน แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะและโอกาสที่ใช้ ดังนี้คือ
1 การสู่ขวัญคน
2 การสู่ขวัญสัตว์
3 การสู่ขวัญสิ่งของ

1 การสู่ขวัญคน
การสู่ขวัญคน เป็นเรื่องเกี่ยวกับขวัญหรือจิตใจ อันจะก่อให้เกิดขวัญหรือกำลังใจดีขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตของชาวร้อยเอ็ด มักจะมีการสู่ขวัญควบคู่กันเสมอ เพื่อเรียกร้องหรือระดม พลังทางจิตใจ นอกจากนี้เนื้อหาในบทสูตรขวัญบางบทได้มีการสอดแทรกคติธรรมและแนวทาง ในการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มต่าง ๆ ของสังคม การสู่ขวัญมีหลายประเภท ดังนี้

1.1 การสู่ขวัญพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ได้สมณศักดิ์เป็นยาครู หรือซา ชาวบ้าน จะทำการสู่ขวัญให้ หรือเวลาจะเอาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานที่แท่นประทับภายในวัด จะทำการสู่ขวัญพระสงฆ์ทั้งวัด เป็นการส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้สืบมรดกทางพุทธศาสนาต่อไป

1.2 การสู่ขวัญออกกรรม ผู้หญิงที่คลอดบุตรต้องอยู่ไฟ เมื่อออกไฟแล้วก็มีการสู่ขวัญให้เพราะในขณะที่อยู่ไฟนั้น ได้รับความทุกข์ทรมานนานัปการ จึงจำเป็นต้องเอาอกเอาใจและให้กำลังใจ การเอาอกเอาใจอย่างหนึ่ง คือ การสู่ขวัญ

1.3 การสู่ขวัญเด็กน้อย เด็กๆ มักตกใจง่าย ถ้ามีใครหลอกหรือเห็นอะไรที่น่ากลัว ก็จะตกใจมาก พ่อแม่เชื่อว่าเมื่อเด็กตกใจขวัญจะออกจากร่าง ส่งผลให้เด็กร้องไห้ไม่สบาย จึงจำเป็นต้องทำพิธีสู่ขวัญให้

1.4 การสู่ขวัญคนธรรมดา คนธรรมดานั้น เมื่อไปค้าขายได้ลาภ หรือได้เลื่อนยศตำแหน่ง ก็ทำการสู่ขวัญให้ บางทีฝันไม่ดี หรือเจ้านายมาเยี่ยมก็มีการสู่ขวัญเพื่อให้เกิดสิริมงคล

1.5 การสู่ขวัญหลวง เวลาพ่อแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่เกิดมีอาการเจ็บป่วยชาวบ้านจะรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ถ้ายังไม่หาย ลูกหลานจะทำพิธีสู่ขวัญให้เป็นเวลา 3 คืน เชื่อว่า โรคภัยไข้เจ็บหรืออาการป่วยจะหายได้ สิ่งของที่ใช้ในพิธีนี้ก็เหมือนสู่ขวัญธรรมดา แตกต่างตรงที่ต้องเพิ่มธูปเทียนให้ เท่ากับอายุของผู้ป่วย ให้สวดเวลากลางคืนประมาณ 3-4 ทุ่ม

1.6 การสู่ขวัญนาค เมื่อบุตรชายมีศรัทธา จะบวชเมื่อถึงวันบวชบิดา-มารดาจึงได้จัด พิธีสู่ขวัญให้บุตรชายเพื่อเป็นสิริมงคล

1.7 การสู่ขวัญน้อยก่อนแต่งงาน (กินดอง) มักกระทำที่บ้านเจ้าบ่าวก่อนจะมีพิธีแต่งงาน พ่อแม่เจ้าบ่าวและญาติของเจ้าบ่าวนิยมสู่ขวัญให้กับลูกของตนก่อน แล้วจึงนำพาขวัญไปรวมกัน ที่บ้านเจ้าสาว พาขวัญก่อนพิธีแต่งงาน เรียกพาขวัญน้อย

1.8 การสู่ขวัญบ่าวสาวเวลาแต่งงาน ก่อนที่หนุ่มสาวจะอยู่กินร่วมกันเป็นสามีภรรยา จะต้องจัดให้มีพิธีแต่งงาน หรือชาวอีสานเรียกว่า "กินดอง"เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับคู่บ่าวสาว จึงต้องจัดให้มีการสู่ขวัญขึ้น ส่วนใหญ่มักกระทำที่บ้านเจ้าสาว

1.9 การสู่ขวัญคนป่วย คนเจ็บไข้นาน ๆ หรือชาวบ้านเรียกว่า "ป่วยปี" เชื่อว่ามีสาเหตุ มาจากขวัญออกจากร่างกาย จึงเกิดอาการเจ็บป่วย เมื่อหายป่วยแล้วแต่ร่างกายยังไม่แข็งแรง ถือว่า ขวัญหนีเนื้อหนีคีง (ขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัว) จึงจำเป็นต้องสู่ขวัญให้เพื่อเรียกขวัญให้มาอยู่กับร่าง จะทำให้คนป่วยแข็งแรง หายจากการเจ็บป่วย

1.10 การสู่ขวัญพา ถ้าผู้ใดเจ็บไข้ได้ป่วย กินไม่ได้นอนไม่หลับ และได้ทำการสู่ขวัญ คนป่วยให้แล้ว แต่โรคภัยไข้เจ็บยังไม่หาย ก็จะทำการสู่ขวัญพาให้อีกครั้งหนึ่ง

2 การสู่ขวัญสัตว์
การสู่ขวัญสัตว์เป็นการระลึกถึงบุญคุณของสัตว์ ที่ช่วยมนุษย์ในการทำมาหากินรวมไปถึงการขอขมาที่ได้ด่าว่า เฆี่ยนตี ในระหว่างการทำงาน ที่สำคัญ ได้แก่

2.1 การสู่ขวัญควายและงัว (วัว) ควายและวัวเป็นสัตว์ที่มีคุณแก่คนมากเพราะเป็นแรงงานลากไถในการทำนา ทำไร่ ชาวบ้านถือว่าคนได้กินข้าวเพราะสัตว์เหล่านี้ ดังนั้นก่อนที่จะลงมือทำนา ครั้งแรกหรือเลิกทำนาแล้ว เจ้าของมักทำพิธีสู่ขวัญให้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุญคุณ และขอขมาที่ได้ ด่าว่า เฆี่ยนตีระหว่างทำงานร่วมกัน พาขวัญจัดให้มีน้ำอบ น้ำหอมและหญ้า

2.2 การสู่ขวัญม้อน (ตัวหม่อน) ม้อนเป็นสัตว์ตัวอ่อนที่ชักใยออกจากรังไหม ชาวบ้านสามารถนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ม้อนเป็นสัตว์ที่มีคุณแก่คน เพราะไหมสามารถทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม เมื่อชาวบ้านลงมือเลี้ยงม้อน หรือหลังจากการชักใยม้อนเสร็จเป็นรังไหมแล้วจะจัดให้มีการสู่ขวัญขึ้น เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้เลี้ยงม้อนทำให้ผู้เลี้ยงขายเส้นไหมได้เงินทอง และเชื่อว่าการสู่ขวัญให้ม้อนจะ ส่งผลให้ม้อนมีหนังหนาดังเปือกพ้าว (เหมือนเปลือกมะพร้าว) พาขวัญมีข้าวต้มและใบม้อน

3 การสู่ขวัญสิ่งของ
การสู่ขวัญสิ่งของเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อถือที่ว่า สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ มีประโยชน์ต่อชีวิตของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการสู่ขวัญให้กับสิ่งของเหล่านี้เพื่อเป็นการสำนึกในบุญคุณ ชาวบ้านเชื่อว่าการสู่ขวัญสิ่งของจะทำให้ผู้เป็นเจ้าของมีความสุข มีลาภ เป็นสิริมงคลแก่เจ้าของต่อไป ซึ่งการสู่ขวัญสิ่งของแยกได้ดังนี้

3.1 การสู่ขวัญเฮือน คือ การนำเอาพิธีและขั้นตอนการสร้างบ้านเรือนมาพูดที่ในประชุม เพื่อให้คนที่มาในพิธีรู้จักสร้างบ้านให้เป็นสิริมงคล ถ้าบ้านเรือนทำไม่ถูกแบบก็จะนำแต่ความไม่เป็นมงคลมาให้

3.2 การสู่ขวัญเกวียน เกวียนเป็นพาหนะใช้สำหรับลากเข็น การสู่ขวัญเกวียนก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลและมั่นคง และสอนให้เจ้าของรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์

3.3 การสู่ขวัญข้าว มักทำกันในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ชาวบ้านเชื่อว่า "กินบ่บก จกบ่ลง" (กินเท่าไหร่ ไม่รู้จักหมด) ชาวบ้านจะสู่ขวัญข้าวก่อนทำพิธีเปิดเล้า (ยุ้ง) ข้าวนำมากิน จะทำการสู่ขวัญก่อน เพื่อเป็นสิริมงคล จะทำให้สามารถผลิตข้าวในปีต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดภาวะอดอยาก

ประเพณีการสู่ขวัญที่ทำในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่เพียงการสู่ขวัญบางประเภท เท่านั้น เช่น การสู่ขวัญนาค สู่ขวัญบ่าวสาว สู่ขวัญคนป่วย สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญคนธรรมดา และสู่ขวัญควายและวัว ทั้งนี้อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ ของสังคมในปัจจุบัน สัตว์และสิ่งของบางอย่างได้หมดความสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวอีสานไปแล้ว จึงค่อยๆ เลิกไปในที่สุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น