"เฮามาซ่อยสืบสร้าง วัฒนธรรมอีสาน"

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

บุญเบิกบ้านหรือบุญซำฮะ


บุญเบิกบ้าน ประเพณีอีสาน
 
เ   เดือนเจ็ด บุญซำฮะ นิยมทำกันในเดือนเจ็ด จัดทำได้ทั้งข้างขึ้นข้างแรม บุญซำฮะ คือ บุญซำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง ทำให้บ้านเมือง ไม่อยู่เย็นเป็นสุข เกิดโจรปล้นบ้าน ปล้นเมือง ฆ่าฟันรันแทง ผู้คนวัวควายล้มตายเพราะผีเข้า บ้านเมืองมีเหตุเภทภัยต่าง ๆ จึงทำบุญชำระล้างสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุเภทภัย ที่เป็นอัปมงคลให้หมดไป บางแห่งทำเมื่อฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาลเมื่อทำบุญนี้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารต่าง ๆ เมืองใดที่มีมเหศักดิ์หลักเมือง ก็ทำพิธีเซ่นสรวงหลักเมือง หมู่บ้านใดที่มีผีประจำหมู่บ้านซึ่งเรียกว่า "ผีปู่ตา" หรือ "ตาปู่" หรือเจ้าบ้าน" ก็ทำพิธีเลี้ยงในเดือนเจ็ดนี้และนำข้าวปลาอาหารพร้อมสิ่งอื่น ๆ ไปเลี้ยงผีประจำไร่นา ซึ่งเรียกว่า "ผีตาแฮก" ด้วย

 

                      การชำระล้างมลทิน ผงฝุ่น หรือสิ่งที่สกปรก รุงรังให้สะอาดปราศจากมลทินหรือความมัวหมอง เรียกว่า "ชำระ" หรือภาษาอีสานเรียกว่า "ซำฮะ" สิ่งควรเอาใจใส่ในการชำระให้สะอาด นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ความสกปรกภายนอก ได้แก่ ร่างกาย เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และความสกปรกภายใน ได้แก่ จิตที่มีความโลภ โกรธ หลง อันสิ่งที่เป็นอกุศลมูลหรือสิ่งเป็นมูลเหตุของความไม่ดีไม่งามที่จะทำให้จิตใจของคนเราเศร้าหมองได้

                      การชำระล้างในประเพณีนี้ได้แก่ การที่บ้านเมืองเกิดความเดือดร้อน มีข้าศึกมาทำลาย มีโจรปล้น เกิดรบราฆ่าฟันแย่งชิงกันเป็นใหญ่ เกิดโรคระบาด ผู้คน ช้าง ม้า วัว ควาย ล้มตายเพราะผีเข้าเจ้าสูญ (ผีโกรธ) คนอีสานถือกันว่าบ้านเมืองเกิดเดือดร้อน ชะตาบ้านเมืองขาด จำต้องมีการชำระล้างให้หายจากเสนียดจัญไรเหล่านั้น การทำบุญเกี่ยวกับการชำระล้างบ้านเมืองนี้เรียกว่า "บุญซำฮะ" และมีกำหนดทำกันในเดือน ๗ จึงได้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนเจ็ด"  ซึ่งบุญเดือนเจ็ดนี้นักปราชญ์โบราณอีสานได้กล่าวไว้เป็นผญาว่า...

  “เดือนเจ็ดเผาความฮ้ายอันตรายบ่มาผ่าน  

นิมนต์พระขึ้นบ้านเล็งเป้าเข้าใส่ธรรม

บุญสิมาส่อยยู้ ซูส่งราศี                                

บารมีผลทานสิไล่มารให้เลยพ้น

ตั้งแต่คนเฮาได้เคยยินมาตั้งแต่ก่อน

บุญซำฮะสละความเดือดฮ้อน เมืองบ้านสิฮ่มเย็น

                       ความหมายคือ  เดือนเจ็ดเผาความชั่วร้าย  อันตรายไม่มาผ่าน  นิมนต์พระขึ้นบ้าน เพื่อธรรมคำสอน  บุญจะคอยช่วยส่งเสริมสร้างราศี  บารมีผลทานจะไล่มารให้หนีพ้น ตั้งแต่คนเราเคยได้ยินที่ผ่านมาบุญชำระสละความเดือดร้อน  บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข

                       มูลเหตุที่ทำบุญซำฮะนี้ มีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือพระไตรปิฎกอรรถกถาว่า สมัยหนึ่งในเมืองไพสาลี ได้เกิดข้าวยากหมากแพงและฝนแล้ง ผู้คน ช้าง ม้า วัว ควาย ล้มตายลงเป็นอันมาก เกิดมีโรคอหิวาต์ระบาดทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยซากศพ  เจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองไพสาลี จึงได้ไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า    พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อีก ๕๐๐ รูป เสด็จจากกรุงราชคฤห์มายังเมืองไพสาลีโดยทางเรือ เพื่อมาขจัดปัดเป่าหรือว่ามาชำระเสนียดจัญไรที่เกิดขึ้น  การเดินทางในสมัยนั้นใช้เวลาเดินทางถีง ๗ วัน จึงเสด็จมาถึงเมืองไพสาลีได้ พอเมื่อพระองค์เสด็จมาถึงแล้วเกิดฝนตกห่าใหญ่ในเมืองเกิดน้ำท่วมมีระดับประมาณหัวเข่า น้ำที่ท่วมนั้นกลายเป็นผลดีแก่เมืองไพสาลี โดยได้พัดพาเอาซากศพของคนและสัตว์ลงสู่แม่น้ำและไหลออกสู่ทะเลในที่สุด ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทำน้ำมนต์ใส่บาตรให้พระอานนท์นำน้ำมนต์นั้นไปพรมจนทั่วพระนคร โรคภัยไข้เจ็บก็เกิดระงับดับหายไป  ด้วยอนุภาพของพระพุทธเจ้าและน้ำพุทธมนต์นั้น คนโบราณอีสานอาศัยความเชื่ออันนี้ จึงได้พากันทำเป็นประเพณี   เมื่อถึงเดือน ๗ ของทุกๆ ปี ก็จะพากันทำบุญชำระบ้านเมืองอยู่เป็นประจำ


 
    รวมความ ว่า

           บุญซำฮะ  นิยมทำกันในเดือนเจ็ด จัดทำได้ทั้งข้างขึ้นข้างแรม บุญซำฮะ คือ บุญซำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง ทำให้บ้านเมือง ไม่อยู่เย็นเป็นสุข เกิดโจรปล้นบ้าน ปล้นเมือง ฆ่าฟันรันแทง ผู้คนวัวควายล้มตายเพราะผีเข้า บ้านเมืองมีเหตุเภทภัยต่าง ๆ  จึงทำบุญชำระล้างสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุเภทภัย ที่เป็นอัปมงคลให้หมดไป บางแห่งทำเมื่อฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาลเมื่อทำบุญนี้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารต่าง ๆ เมืองใดที่มีมเหศักดิ์หลักเมือง ก็ทำพิธีเซ่นสรวงหลักเมือง หมู่บ้านใดที่มีผีประจำหมู่บ้านซึ่งเรียกว่า "ผีปู่ตา" หรือ "ตาปู่" หรือเจ้าบ้าน" ก็ทำพิธีเลี้ยงในเดือนเจ็ดนี้และนำข้าวปลาอาหารพร้อมสิ่งอื่น ๆ ไปเลี้ยงผีประจำไร่นา ซึ่งเรียกว่า "ผีตาแฮก" ด้วย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น