"เฮามาซ่อยสืบสร้าง วัฒนธรรมอีสาน"

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

บุญบั้งไฟ



ประวัติ/ความเป็นมา
ประเพณีบุญบั้งไฟกำเนิดจากไหนนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่ก็ยังปรากฏ ประเพณีนี้ในภาคเหนือ (เรียกว่า ประเพณีจิบอกไฟ) ส่วนหลักฐานเอกสารในภาคอีสาน ปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง ผาแดง-นางไอ่ ซึ่งกล่าวถึงตำนานบุญบั้งไฟบางส่วนความเป็นมาและตำนานเกี่ยวกับบุญบั้งไฟมีหลายประการด้วยผู้รู้หลายท่านได้กล่าวไว้ เช่น

สิริวัฒน์ คำวันสาได้ให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับต้นเหตุความเป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟในแง่ต่างๆไว้ว่าด้านศาสนาพราหมณ์มีการบูชาเทพเจ้าด้วยไฟเป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าบนสวรรค์ การจุดบั้งไฟเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งและเป็นการบูชาเพื่อให้พระองค์บันดาลในสิ่งที่ตนเองต้องการ
ด้านศาสนาพุทธเป็นการฉลองและบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชามีการนำเอาดอกไม้ไฟแบบต่างๆ บั้งไฟ น้ำมันไฟธูปเทียนและดินประสิว มีการรักษาศีล ให้ทาน การบวชนาค การฮดสรง การนิมนต์พระเทศน์ให้เกิดอานิสงส์

ด้านความเชื่อของชาวบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์โลกเทวดา และโลกบาดาล มนุษย์ อยู่ภายใต้อิทธิพลของเทวดา การรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างแห่งการแสดงความนับถือเทวดา เทวดา คือ "แถน" "พญาแถน"เมื่อถือว่ามีพญาแถนก็ถือว่ามีฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของพญาแถน หากทำให้พญาแถนโปรดปรานหรือพอใจแถนก็จะบันดาลความสุข จึงมีพิธีบูชาแถนการใช้บั้งไฟเชื่อว่าเป็นการบูชาพญาแถนซึ่งแสดงความเคารพและแสดงความจงรักภักดีต่อแถนชาวอีสานส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าการจุดบูชาบั้งไฟเป็นการ ขอฝนพญาแถนและมีนิทานปรัมปราลักษณะนี้อยู่ทั่วไป แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอนในวรรณกรรมอีสานยังมีความเชื่ออย่างหนึ่ง คือ เรื่องพญาคันคากพญาคันคากได้รบกับพญาแถนจนชนะแล้ว ให้พญาแถนบันดาลฝนตกลงมายังโลกมนุษย์
พระมหาปรีชา ปริญญาโน เล่าถึงมูลเหตุการทำบุญบั้งไฟไว้ว่า บนสวรรค์ชั้นฟ้ามีเทพบุตรนามว่า วัสสการเทพบุตร เทพบุตรองค์นี้เป็นผู้บันดาลให้ฝนตกลงมายังโลกมนุษย์สิ่งหนึ่งที่เทพเจ้าองค์นี้ชอบ ก็คือ การบูชาไฟ ใครบูชาไฟถือว่าบูชาท่านแล้วท่านจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลอาศัยเหตุนี้คนจึงพากันทำการบูชาไฟด้วยการทำบุญบั้งไฟและถือเป็นประเพณีจนทุกวันนี้

จารุบุตร เรืองสุวรรณ กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการทำบั้งไฟว่าเป็นการทดสอบความพร้อมของประชาชนว่ามีความสามัคคีหรือไม่ และเตรียมอาวุธไว้ป้องกันสังคมของตนเองเพราะสิ่งที่ใช้ทำบั้งไฟนั้นคือดินปืนนอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกันเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแสดงการละเล่นจนสุดเหวี่ยง ให้มีความสนุกสนานก่อนที่จะเริ่มทำงานหนักประจำปี คือ การทำนา

บุญเลิศ สดสุชาติ กล่าวถึงการทำบั้งไฟว่า มีตำนานเล่าถึงเมืองธีตานครของท้าวพญาขอมเกิดแล้งหนัก ท่านจึงป่าวประกาศให้เมืองต่างๆทำบั้งไฟมาแข่งกันของใครขึ้นสูงสุดจะเป็นผู้ชนะได้อภิเษก สมรสกับ "นางไอ่"ผู้เป็นพระราชธิดา ผลการแข่งขันจุดบั้งไฟปรากฏว่าท้าวผาแดงเป็นผู้ชนะเลิศเมื่อพญาขอม สิ้นพระชนม์ ท้าวผาแดงได้ครองเมืองสืบต่อมาด้วยความสงบสุขร่มรื่นกล่าวถึงท้าวภาคีบุตรพญานาค เคยเป็นคู่ครองของนางไอ่ในชาติปางก่อนยังมีอาวรณ์ถึงนางจึงได้แปลงกายเป็นกระรอกเผือกมาให้นางไอ่เห็นเมื่องนางไอ่เห็นก็อยากได้กระรอกนั้นเป็นกำลัง นางได้ส่งบริวารให้ช่วยกันจับบังเอิญบริวารยิงธนูถูกกระรอก เผือกถึงแก่ความตายก่อนตายท้าวภาคีได้อธิษฐานให้ร่างกายของตนใหญ่โต แม้คนจะเชือดเพื่อไปกินมากมายอย่างไรก็อย่าได้หมด ใครที่กินเนื้อตนจงถึงแก่ชีวิตพร้อมกันทั้งแผ่นดินถล่มเมืองธีตานครถึงแก่จม หายไป กลายเป็นหนองหาน ท้าวผาแดงและนางไอ่พยายามขี่ม้าหนีแต่ไม่รอดได้เสียชีวิตในคราวนี้ด้วยจากผลแห่งกรรมดีที่สร้างไว้ท้าวผาแดงได้ไปจุติเป็นเทพเจ้า ชื่อว่าพญาแถนดังนั้นการทำบุญบั้งไฟก็ เพื่อเป็นการบูชาพญาแถน

จารุวรรณ ธรรมวัตรกล่าวถึงมูลเหตุการทำบั้งไฟดังนี้ พญาแถนเป็นเทพยดาผู้มีหน้าที่ควบคุมฝนฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาล หากทำการเซ่นบวงสรวงให้พญาแถนพอใจท่านก็จะอนุเคราะห์ให้การ ทำนาปีนั้นได้ผลสมบูรณ์ตลอดจนบันดาลให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหมู่บ้านใดทำบุญบั้งไฟติดต่อกันมาถึงสามปีข้าวปลาอาหารในหมู่บ้านนั้นจะบริบูรณ์มิได้ขาด

พระยาอนุมานราชธนเขียนเล่าไว้ในเรื่อง "อัคนีกรีฑา" ว่าด้วยวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของไทยว่าเรื่องบ้องไฟนี้โบราณเรียกว่ากรวดหรือจรวด เป็นการเล่นไฟของชาวบ้านโดยอ้างถึงหลักศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง เมื่อพุทธศักราช ๑๘๓๕ ว่า "เมืองสุโขทัยนี้มีสีปากประตู หลวงเทียรญ่อมคนเสียดคนเข้าดู ท่านเผาเทียนเล่นไฟเมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก" เป็นหลักฐานว่าการเล่นไฟประดิษฐ์จรวด กรวด หรือบ้องไฟรวมทั้งพลุ ตะไล และไฟพะเนียงได้รู้จัก และทำเล่นกันมานานเกือบ ๗๐๐ ปีแล้วเป็นการละเล่นที่สนุกสนานผู้คนเบียดเสียดกันเข้ามาดูแทบว่ากรุงสุโขทัยแตก

ส่วนงานประเพณีบั้งไฟเมืองยโสธรได้มีมานานแล้ว โดยมีหลักฐานว่า มีมาก่อนที่กรมหลวง- สรรพสิทธิประสงค์จะขึ้นไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล คือ เรื่องของกบฏผีบุญ หรือกบฏชาวนา กรมหลวง-สรรพสิทธิประสงค์ จึงห้ามการเล่นบั้งไฟ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๓๖ :๓๔)

จุดประสงค์ของการทำบุญบั้งไฟ
วามเป็จุดประสงค์ของการทำบุญบั้งไฟมีหลายอย่าง เช่น
๑. การบูชาคุณของพระพุทธเจ้า สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาขอน้ำฝน เชื่อมความ สมัครสมานสามัคคี แสดงการละเล่นการบูชาคุณของพระพุทธเจ้าชาวอีสานส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเทศกาลเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันประสูติวันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ชาวอีสานจะจัดดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาพระพุทธรูปการทำบุญบั้งไฟของชาวอีสานถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน
๒.การสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เนื่องจากการทำบุญบั้งไฟ มีการบวชพระและบวชเณรในครั้งนี้ด้วย จึงถือว่าเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา
๓. การขอฝนการทำนาไม่ว่าจะเป็นของภาคใดก็ต้องอาศัยน้ำฝน ชาวอีสานก็เช่นกันเนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้จึงมีความเชื่อเดียวกันกับสิ่งเหนือธรรมชาติจากตำนาน เรื่องเล่าของชาวอีสานเชื่อว่ามีเทพบุตรชื่อ โสกาลเทพบุตร มีหน้าที่บันดาลน้ำฝนให้ตกลงมา จึงทำบุญบั้งไฟขอน้ำจากเทพบุตรองค์นั้น
๔. การเชื่อมความสามัคคีคนในบ้านเมืองหนึ่งที่แตกต่างกันมาอยู่รวมกัน ถ้ามิได้ทำกิจกรรมร่วมกันก็จะมีฐานะต่างคนต่างอยู่ เมื่อบ้านเมืองเกิดความยุ่งยากจะขาดกำลังคนแก้ไขดังนั้น เมื่อทำบุญบั้งไฟก็จะเปิดโอกาสให้คนทั้งหลายได้มาร่วมแรงร่วมใจกันประกอบกิจกรรมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น ในหมู่คณะ
นม๕. การแสดงการละเล่นเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมาแสดงการละเล่น คนเราเมื่อได้เล่น ได้กินร่วมกันจะเกิดความรักใคร่ใยดีต่อกัน การเล่นบางอย่างจะสุภาพเรียบร้อย บางอย่างหยาบโลนแต่ก็ไม่ ถือสาหาความ ถือเป็นการเล่นเท่านั้น

การกำหนดการจัดงาน
ชาวอีสานส่วนใหญ่จัดประเพณีบุญบั้งไฟประมาณเดือน ๖ หรือเดือน ๗ เป็นช่วงที่เริ่มทำนาเพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลหรือเปรียบเสมือนประเพณีแห่นางแมวของทางภาคกลาง ส่วนในจังหวัดยโสธรจัดเป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดและจะจัดขึ้นทุกๆปีในวันที่ ๑๖พฤษภาคม
กิจกรรมและพิธีกรรมในงาน
ขั้นตอนการเตรียมบั้งไฟเริ่มจากทางบ้านในคุ้ม (เป็นหน่วยย่อยของชุมชนหมู่บ้าน) ซึ่งแต่ละคุ้มในเมืองยโสธรมีวัดอย่างน้อยหนึ่งวัดในบริเวณ จึงเรียกชุมชนเหล่านี้ว่าคุ้มวัดหรือคุ้มบ้าน ในความหมายถึงคุ้มของหมู่บ้าน (ดู นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์, ๒๕๓๖ :๓๘-๕๙) โดยแบ่งงานกันทำเริ่มจากทำบั้งไฟฝึกหัดฟ้อนรำประกอบขบวนแห่บั้งไฟการปลูกปะรำที่พักอาศัยเพื่อแขกที่เชิญมาร่วมงานจากหมู่บ้านอื่นมีการเตรียมอาหาร บ้านใดที่มีลูกสาวก็จะเตรียมตัดชุดรำเซิ้งอุปัชฌาย์จะเตรียมนาคเพื่อบวชในงาน เป็นช่วงที่ครึกครื้นมากสถานที่จัดงานสมัยก่อนจะใช้วัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางรวบรวมราษฎรมาช่วยกันทำบั้งไฟบั้งไฟแต่ละบั้งใช้เวลาในการทำประมาณสองถึงสามเดือนในปัจจุบันงานบุญบั้งไฟได้กลายเป็นงานที่ทาง จังหวัดเป็นผู้จัดดังนั้นทางเทศบาลจะจ่ายให้คุ้มละ ๓๐,๐๐๐ บาท (เมื่อปี ๒๕๓๕) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำบั้งไฟและขบวนแห่ ทั้งนี้ทางเทศบาลจะเป็นผู้กำหนดนางรำที่จะร่วมขบวนแห่งบประมาณที่ได้จาก จังหวัด ๑ ใน ๓เป็นค่าใช้จ่ายในการทำบั้งไฟที่เหลือใช้จ่ายในขบวนแห่ซึ่งเท่าที่ผ่านมางบประมาณไม่พอ ก็ต้องทำการเรี่ยไรกันในคุ้ม (นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์, ๒๕๓๖ : ๓๕)

ขั้นตอนในการทำบุญบั้งไฟต้องมีการศึกษาและเรียนรู้สืบทอดต่อๆกันมา คนที่เป็นช่างทำบั้งไฟเรียกว่า "ช่างบั้งไฟ" โดยทั่วไปจะถ่ายทอดต่อกันนับพ่อกับลูก ลูกกับหลานหรือครูกับลูกศิษย์เป็นคนๆ เท่านั้น ไม่ใช่คนทั่วไปอยากเรียนก็จะเรียนได้หมดครูจะเลือกถ่ายทอดให้ตัวต่อตัว สำหรับศิษย์ที่ครูเห็นว่ามีไหวพริบและมีพรสวรรค์ด้านการทำบั้งไฟเท่านั้นก่อนลงมือทำบั้งไฟต้องจัดหาอุปกรณ์ไว้ให้ครบ เพื่อความสะดวกในการทำบั้งไฟในปัจจุบันกับสมัยโบราณจะต่างกันในเรื่องระยะเวลา
ชนิดของบั้งไฟ
ชนิดของบั้งไฟมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการทำ อาจจะแยกเป็นแบบใหญ่ และนิยมทำกันมากมี ๓ แบบ คือแบบมีหาง แบบไม่มีหาง และบั้งไฟตะไลบั้งไฟมีหางเป็นแบบมาตรฐาน เรียกว่า "บั้งไฟหาง"มีการตกแต่งให้สวยงามเมื่อเวลาเซิ้ง เวลาจุดจะพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สูงมากควบคุมทิศทางได้เล็กน้อยบั้งไฟแบบไม่มีหางเรียกว่า "บั้งไฟก่องข้าว"รูปร่างคล้ายกล่องใส่ข้าวเหนียว ชนิดมีขาตั้ง เป็นแฉกถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดก็คล้ายจรวดนั่นเองบั้งไฟตะไล มีรูปร่างกลม มีไม้บางๆแบนๆ ทำเป็นวงกลมรอบหัวท้ายของบั้งไฟ เวลาพุ่ง ขึ้นสู่ท้องฟ้าจะพุ่งไปโดยทางขวาง บั้งไฟทั้งสามแบบที่กล่าวมา ถ้าจะแยกย่อยๆ ตามเทคนิคการทำและลักษณะรูปร่างของบั้งไฟจะแยกเป็นประเภทได้ ๑๑ ชนิด ดังนี้คือ

-บั้งไฟโมดหรือโหมด- บั้งไฟม้า
- บั้งไฟช้าง
- บั้งไฟจินาย
- บั้งไฟดอกไม้
- บั้งไฟฮ้อยหรือบั้งไฟร้อย
- บั้งไฟหมื่น
- บั้งไฟแสน
- บั้งไฟตะไล
- บั้งไฟตื้อ
- บั้งไฟพลุ
(ปรีชา พิณทอง, อร่ามจิต ชิณช่าง, ๒๕๓๗ : ๓๗-๔๑)


 

การแห่บั้งไฟ
การแห่บั้งไฟจะกำหนดไว้ ๓วัน คือ วันสุกดิบ วันประชุมเล่นรื่นเริง และวันจุดบั้งไฟ ในวัน สุกดิบคณะเซิ้งบั้งไฟแต่ละคุ้มแต่ละคณะจะนำบั้งไฟของตนพร้อมด้วยขบวนแห่มายังหมู่บ้านที่แจ้งฎีกาโดยจะแห่ไปรวมกันที่วัด และที่วัดจะมีการทำบุญและเลี้ยงแขกผู้ที่มีหน้าที่ต้อนรับจะปลูกกระท่อมเล็ก เรียกว่า "ผาม" ขึ้นตามลานวัดเพื่อเป็นที่จุดบั้งไฟและเป็นที่รับแขกที่จะมาประชุมกัน ทุกๆคนที่มาร่วมงานกันล้วนแต่งกายอย่างสวยงามทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะสาวๆถ้าสาวบ้านไหนไม่ไปเท่ากับผู้เฒ่าผู้แก่บ้านนั้น ไม่ยินดีร่วมทำบุญและไม่ร่วมมือถ้าพ่อแม่ขัดข้องโดยไม่มีเหตุจำเป็นจะเป็นบาป ตายแล้วต้องตกนรก แสนกัปแสนกัลป์และเป็นเหตุให้บ้านเมืองเดือดร้อน ฟ้าฝนไม่อุดมสมบูรณ์ทำไร่ทำนาไม่ได้ผล ปัจจุบันจังหวัดยโสธรได้จัดให้บั้งไฟคณะต่างๆ ไปทำพิธีบวงสรวงคารวะเจ้าปู่เจ้าพ่อหลักเมืองแล้วแต่ละคุ้มจะรำ เซิ้งเพื่อขอบริจาคไปตามสถานที่ต่างๆ ได้

เมื่อถึงวันที่สอง คือวันประชุมเล่นรื่นเริงหรือวันสมโภชคณะต่างๆจะนำบั้งไฟของตนไปปัก ไว้ที่ศาลาการเปรียญฝ่ายที่มีหน้าที่ต้อนรับแขกก็แขกรับไป พวกแขกก็มีธรรมเนียมเหมือนกันคือ ต้องมาเป็นขบวน มีคนตีฆ้อง ตีกลองนำขบวน มีพระและสามเณร ต่อด้วยประชาชนทั่วไปในขบวนนี้อาจจะมีแคน หรือเครื่อง ดนตรีอื่นๆเป่าหรือบรรเลงเพื่อความครึกครื้นไปด้วย ครั้นไปถึงลานวัดแล้วเจ้าภาพจะนำแขกไปยังผามที่ทำไว้ ขณะเมื่อแขกไปถึงผามจะตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณว่าแขกทั้งหลายได้มาถึงแล้วและจัดที่นั่งสำหรับพระและสามเณรไว้บนพื้นสูงแถวหนึ่ง ชายแก่อีกชั้นหนึ่งและรองลงมาก็จะเป็นหญิงแก่และสาวปนเปกันไปและต้องหันหน้าออกมาทางผาม สำหรับพวกหนุ่มๆที่ร่วมขบวนมาด้วยกันนั้นส่วนมากจะมารื่นเริงฟ้อนรำทำเพลงผสมปนเปกับเจ้าของถิ่นและพวก ที่มาจากถิ่นอื่น วันนี้อาจมีการบวชนาคและสรงน้ำพระภิกษุโดยนิมนต์ท่านสมภารวัด หรือพระคุณเจ้าวัดเจ้าคณะอำเภอนั้นๆขึ้นแคร่แห่ไปรอบวัดและนำนาคเข้าขบวนแห่ไปด้วย นาคพื้นเมืองจะแต่งตัวสวยงามมาก บางคนนั่งแคร่หรือขี่ม้า และมีคนตีฆ้องเดินนำขบวน มีการยิงปืนและจุดไฟตะไล อานม้าผูกกระพรวนด้วยอนึ่งในพิธีแห่บั้งไฟนี้ ถ้าบุคคลใดมีความประสงค์จะสรงน้ำพระภิกษุก็ให้มีการแห่พระภิกษุรูปนั้นออกนำ หน้านาคอีกทีหนึ่งการสรงน้ำพระเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฮดสรง การฮดสรงนี้เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่พระภิกษุรูปใดจะได้เลื่อนยศชั้น จึงจะได้รับการสรงน้ำ และมีการถวายจตุปัจจัยหรือสังฆบริภัณฑ์ เช่น ถวาย เตียงนอน เสื่อสาด หมอนอิง ไม้เท้า กระโถน ขันน้ำพานรองสำรับคาวหวาน ผ้าไตร ฯลฯ

ครั้นแห่ประทักษิณครบสามรอบแล้วจะนิมนต์พระรูปนั้นนั่งบนแท่นซึ่งทำลวดลายด้วย หยวกกล้วย แล้วสรงน้ำด้วยน้ำอบน้ำหอมครั้นเสร็จจากการสรงน้ำแล้วจึงอ่านประกาศชื่อของพระรูปนั้น ให้ทราบทั่วกันประกาศนั้นจะเขียนลงบนใบลานบ้าน แผ่นเงินบ้าง แผ่นทองบ้างตามกำลังยศเมื่ออ่านประกาศ แล้วเจ้าศรัทธาจะมอบจตุปัจจัยต่างๆ ที่จัดมานั้นถวายแด่พระภิกษุต่อจากนั้นมีพิธีสวดมนต์เย็นที่ ศาลาการเปรียญ ในปัจจุบันมีคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯโดยชาวยโสธรจะชวนเพื่อนๆที่สนิทนำผ้าป่ามาถวายที่บ้านเกิดของตนเป็นการกลับมาเยี่ยมบ้าน เที่ยวงานประเพณีบุญบั้งไฟและเป็นการทำบุญด้วย

วันแห่บั้งไฟตอนเช้ามีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ศาลาการเปรียญ และรับผ้าป่า จากนั้นนำขบวนแห่ไปคารวะมเหศักดิ์หลักเมืองเจ้าพ่อปู่ตาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน แล้วขบวนแห่บั้งไฟทุกคณะ
ไปตั้งแถวตามถนนแล้วแห่ไปตามเส้นทางที่คณะกรรมการจัดการกำหนดไว้ในขบวนแห่บั้งไฟที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ขบวนฟ้อนรำ ที่เรียกว่า เซิ้งบั้งไฟนำขบวนไปด้วยบั้งไฟแต่ละขบวนจะ ประกอบด้วยขบวนเซิ้งนำหน้าขบวนแสดงความเป็นอยู่ (อาชี)ตลกขบขัน

ในวันจุดบั้งไฟ ตอนเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระตักบาตรถวายภัตตาหาร เลี้ยงดูญาติโยม แล้วแห่บั้งไฟไปรอบพระอุโบสถเพื่อถวายแด่เทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วนำบั้งไฟออกไปที่จัดไว้สำหรับจุดบั้งไฟ

การจุดบั้งไฟจะจุดบั้งไฟเสี่ยงทายก่อนเพื่อเป็นการเสี่ยงทายว่าพืชผลทางการเกษตร ประจำปี จะดีเลวหรือไม่ กล่าวว่า คือถ้าบั้งไฟที่เสี่ยงทายจุดไม่ขึ้น (ชุติดค้าง) ก็ทายว่าน้ำประจำปีจะมากและทำให้ไร่ที่
ลุ่มเสียหาย ถ้าจุดแล้วขึ้นไประเบิดแตกกลางอากาศทายว่าแผ่นดินจะเกิดความแห้งแล้งแต่ถ้าบั้งไฟจุดขึ้นสวยงามและสูง ชาวบ้านจะเปล่งเสียงไชโยตลอดทั้งบริเวณลานเพราะมีความเชื่อว่า ข้าวกล้าและพืชไร่ในท้องทุ่งจะได้ผลบริบูรณ์

หลังจากลำเสี่ยงทายแล้วก็จะทำการจุดบั้งไฟเสียงหลังจากนั้นก็จะจุดบั้งไฟที่นำมาแข่งขัน บั้งไฟหมื่นและบั้งไฟแสนการจุดชนวนใช้เวลาไม่กี่นาทีบั้งไฟก็จะพุ่งไปในอากาศ การขึ้นของบั้งไฟจะมีเสียงดังวี้ด คล้ายคนเป่านกหวีดหรือเป่ากระบอกส่วนบั้งไฟแข่งขันจะจุดหลังบั้งไฟเสียงการจุดบั้งไฟแข่งขันถ้าบั้งไฟของคณะใดขึ้นสูงก็เป็นผู้ชนะ ถ้าขึ้นสูงมากก็จะโห่ร้องยินดีกระโดดโลดเต้นกันอย่างเต็มที่ และจะแบกช่าง ทำบั้งไฟเดินไปมาแต่ถ้าบั้งไฟของคณะใดไม่ขึ้นหรือแตกเสียก่อน ช่างบั้งไฟจะถูกลงโคลนตมไม่ว่าบั้งไฟจะขึ้นหรือไม่ขึ้นก็ตามก็จะจับโยนทั้งนั้น ช่างทำบั้งไฟจะเป็นคนจุดเองหรือบางทีคนในคณะบั้งไฟของตน ที่มีความชำนาญจะเป็นคนจุดกรรมการจะจับเวลาว่าใครขึ้นสูงกว่ากัน การจุดบั้งไฟนี้น่ากลัวมาก บางบั้ง ก็แตกบางบั้งก็ขึ้นสูงในวันจุดบั้งไฟนี้ประชาชนพากันมามุงดูอย่างคับคั่งนั่งอยู่ตามร่มไม้เป็นกลุ่มๆและพนันกันว่าบั้งไฟใครจะชนะ ขึ้นสูงหรือไม่ ตกหรือไม่ เป็นต้นบางทีมีบั้งไฟมากต้องจุด ๒ วัน ก่อนจุดต้องเอาเครื่องประดับบั้งไฟออกนำแต่บั้งไฟเท่านั้นไปจุด หลังจากจุดเสร็จแล้วจะมอบรางวัลให้กับบั้งไฟที่ขึ้นสูง ตามลำดับที่ ๑ - ๓จากนั้นคณะเซิ้งพากันเซิ้งกลับไปบ้านของตนหรือบ้านช่างทำบั้งไฟ

การนำรอยไฟ (การนำฮอยไฟ) หมายถึง การเล่นสนุกหลังจากจุดบั้งไฟแล้ว มีการตามช่างและชาวบ้านที่เป็นเจ้าบ้านไปดื่มเหล้าและเล่นสนุกสนานกันอีกการตามรอยไฟจะสูตรขวัญให้ช่างทำ บั้งไฟด้วย คือเริ่มแรกอาราธนาสูตรขวัญเพื่อทำขวัญช่างเมื่ออาราธนาเสร็จแล้วหมอก็เริ่มการสูตรขวัญบ้านที่ทำการสูตรขวัญเป็นบ้านช่างทำบั้งไฟ ทุกคนในบ้านจะออกมานั่งรับการสูตรขวัญหมอสูตรขวัญนำคำ สูตรขวัญที่ดีๆมาสูตร เสร็จแล้วมีการผูกแขนเพื่อเป็นมงคลหลังจากสูตรขวัญและผูกแขนช่างทำบั้งไฟแล้ว ก็รับประทานอาหารกันอย่างสนุกสนานการนำรอยไฟปฏิบัติกันทั่วไป ปัจจุบันปฏิบัติกันน้อยลง การเซิ้งตามรอยไฟเป็นการเซิ้งเพื่อเยี่ยมเยียนตามบ้านเรือนชาวบ้านจนถึงค่ำจึงเลิกรากันไปเนื้อความของกาพย์เซิ้ง ในตอนนี้เป็นการขอเหล้าสาโทดื่มฉลองมีการกล่าวขอบคุณและให้ศีลให้พร (ดูตัวอย่างคำให้ศีลให้พรใน ปรีชา พิณทอง, อร่ามจิตชิณช่าง, ๒๕๓๗ : ๔๓-๔๔)

ประเพณีบุญบั้งไฟกับชีวิตของชาวอีสานจึงมีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น ชาวอีสานจะจัดทำบุญบั้งไฟกันอย่างเอิกเกริก ยิ่งปีใดฝนแล้งจะต้องทำเป็นกรณีพิเศษนอกจากนี้ยังถือเป็นการทำบุญ ประกอบคุณงามความดีตามความเชื่อถือที่มีมาแต่โบราณกาลเช่น มีงานบวชนาค งานสรงน้ำพระพุทธรูป งานถือน้ำพิพัฒน์ต่อหน้าพระพุทธรูปกล่าวได้ว่าชาวอีสานใช้บั้งไฟเป็นสื่อในการให้ประชาชนทำบุญเป็นสื่อในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับพญาแถนบั้งไฟจึงมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของคนอีสาน ในฐานะเป็นเครื่องมือของพิธีขอฝนเพื่อให้ตกต้องตามฤดูกาลนอกจากนี้ประเพณีบุญบั้งไฟยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านจาก หมู่บ้านและตำบลต่างๆได้มาช่วยกันทำบุญบั้งไฟ มาร่วมกันสนุกสนานเป็นการรวมพลังประชาชนให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ฝึกให้รักและสามัคคีกันได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น